ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ประเทศไทยเดินไปทางไหนดี? ข้อสังเกตบางประการจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12



ประเทศไทยเดินไปทางไหนดี?
ข้อสังเกตบางประการจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12
วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ที่มาของภาพ: www.th.undp.org

            เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดประชุมประจำปี 2559 ในหัวข้อ "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564)" ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ผมเองก็ได้เข้าประชุมดังกล่าวและได้รับเอกสารมา 1 ชุด ประกอบด้วย เอกสารประกอบการประชุมฯ และสรุปสาระสำคัญรายงานผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 4 ปี ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11
          หลักการสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มีด้วยกัน 5 ข้อ ดังนี้
1.       ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9)
2.       ยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา (เน้นให้คนมีวินัย ใฝ่รู้ มีความรู้ มีทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ มีทัศนคติที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม มีจริยธรรมและคุณธรรม)
3.       ยึดวิสัยทัศน์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (วิสัยทัศน์ดังกล่าวคือ ไทยมีความมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง)
4.       ยึดเป้าหมายอนาคตประเทศไทยปี 2579 (หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดำเนินควบคู่ไปกับ SDG ของ UNDP)
5.       ยึดหลักการนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจังใน 5 ปีที่ต่อยอดไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นเป้าหมายระยะยาว (ใช้กลไกประชารัฐขับเคลื่อนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีการกำหนดประเด็นบูรณาการของการพัฒนา)

          ข้อสังเกต
1.       การยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเป็นสิ่งที่ดี แต่ในรายละเอียดระบุด้านเดียวของการพัฒนาคน (ทุนมนุษย์) คือด้านความรู้หรือการศึกษาของคน แต่ไม่ได้ระบุถึงความสมบูรณ์ของคนที่มาจากการมีสุขภาพดี การพัฒนาระบบสุขภาพและสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และระบบสุขภาพแบบถ้วนหน้า เป็นต้น
2.       ปี 2559 เป็นปีสิ้นสุดของ MDGs ทั้ง 8 ข้อของ UNDP ซึ่งไทยทำไม่ได้ทุกข้อ ในแผนพัฒนาฯ ไม่ได้มีการระบุว่าจะทำอย่างไรที่จะแก้ไขเป้าหมายของ MDGs ที่เราพลาดไป ทั้งนี้ ตอนนี้มี SDGs เข้ามา ยาวไปอีก 15 ปี เริ่มต้นปีเดียวกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 นั่นแปลว่า ไทยสามารถออกแผนพัฒนาฯ อีก 3 ฉบับ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ให้ได้ แต่ไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นนี้ในภาพรวม
3.       ขาดคำนิยามที่ชัดเจนว่าอะไรคือมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน รวมถึงประเทศพัฒนาแล้ว เพราะตามนิยามของธนาคารโลก ประเทศพัฒนาแล้วหมายถึงประเทศรายได้สูง ซึ่งมีรายได้ต่อหัวสูงกว่า 12,476 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 440,000 บาทต่อปี
4.       หลักสำคัญบางข้อมีความขัดแย้งในตัวเอง เช่น หลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ต้องการให้คนมีรายได้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แต่ให้พออยู่ได้ พอประมาณ โดยไม่ได้เน้นว่าคนจะต้องมั่งคั่งกันเป็นเศรษฐี ขณะที่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วนั้น ตามนิยามแล้วคือการมีรายได้ต่อหัวที่สูงซึ่งตอนนี้ของไทยยังไม่สูง แต่ก็ไม่ได้หมายถึงไม่มีความสุขหรือไม่ยั่งยืน ดังนั้น จึงควรนิยามให้ชัดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน

          เป้าหมายการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มีด้วยกัน 6 ข้อดังนี้
1.       คนไทยที่มีคุณลักษณะเป็นคนที่ไทยสมบูรณ์ (มีวินัย มีทัศนคติและพฤติกรรมตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม เป็นพลเมืองตื่นรู้ มีสุขภาพกายและใจที่ดี มีความเป็นไทย เป็นต้น)
2.       การลดความเหลื่อล้ำทางด้านรายได้และความยากจน (มีการเข้าถึงบริการทางสังคมที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง กลุ่มคนจนที่สุด 40% มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15%)
3.       ระบบเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ (ปรับสู่เศรษฐกิจฐานบริการและดิจิทัล มีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ SME มีความเข้มแข็งสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มคุณค่าสินค้าและบริการ เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5 เป็นต้น)
4.       ทุนทางธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมสามารถสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่งคงอาหาร พลังงาน และน้ำ (เพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของประเทศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 เป็นต้น)
5.       มีความมั่งคงในเอกราชและอธิปไตย สังคมปลอดภัย สามัคคี สร้างภาพลักษณ์ดี และเพิ่มความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อไทย (ความขัดแย้งทางอุดมการณ์และความคิดลดลง อาชญากรรมลด เป็นต้น)
6.       มีระบบบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย โปร่งใส่ ตรวจสอบได้ กระจายอำนาจและมีส่วนร่วมจากประชาชน (ลดบทบาทภาครัฐที่เอกชนทำได้ดีกว่า เพิ่มการใช้ดิจิทัลในการบริการ เพิ่มอิสระให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)

          ข้อสังเกต
1.       เป็นเป้าหมายแบบกว้างมาก ไม่มีการนิยามที่ชัดเจน เช่น บรรทัดฐานที่ดีของสังคมคืออะไร ความเป็นไทยคืออะไร คนไทยที่สมบูรณ์ต้องมีวินัยในเรื่องใด มารยาทสังคมและการเคารพพื้นที่สาธารณะอยู่ในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ การเปิดกระจกเพื่อทิ้งขยะบนถนนหรือการเทน้ำเสียลงข้างทางจะถูกแก้ไขหรือไม่จากเป้าหมายข้อแรก
2.       กลุ่มคน 40% มีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด ซึ่งภายใน 40% นี้ คุณภาพชีวิตแตกต่างกันมากเนื่องจากมีระดับรายได้และค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน เหตุใดจึงไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนจนที่สุดก่อน (เช่น กลุ่มคนจนที่สุด 10 - 20%)
3.       ความเข้มแข็งของภาคเกษตรจะไม่ถูกพัฒนาใช่หรือไม่
4.       นอกจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่งแล้ว ภาคอุตสาหกรรมควรถูกให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะตามเมืองที่มีโรงงานอยู่หนาแน่น เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา เป็นต้น
5.       ความขัดแย้งทางความคิดไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดี คนทุกคนไม่จำเป็นจะต้องมีความคิดเหมือนกันหรือไปในทางเดียวกัน คนควรมีอิสระในความคิด แต่ต้องรณรงค์และปลูกฝังให้เราเคารพความคิดผู้อื่นเหมือนความภักดีที่เรามีต่อความคิดตนเอง
6.       ตัวอย่างของการลดบทบาทภาครัฐคืออะไร วิสาหกิจอย่างไฟฟ้า ประปา รถไฟ จะให้เอกชนลองเข้ามาเสนอการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาได้หรือไม่ เศรษฐกิจควรลดการผูกขาดโดยรัฐให้น้อยที่สุดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเพื่อการแข่งขัน

          ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มีด้วยกัน 10 ข้อ ประกอบด้วย
1.       การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
2.       การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
3.       การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
4.       การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
5.       การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน
6.       การบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาลในสังคมไทย
7.       การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์
8.       การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนดลยี วิจัย และนวัตกรรม
9.       การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ
10.   ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา

ข้อสังเกต
1.       ยุทธศาสตร์ข้อ 1-6 น่าจะมาจากเป้าหมายทั้ง 6 ข้อ โดยข้อ 7-10 น่าจะมาสนับสนุนให้เป้าหมายแต่ละข้อชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่หากฐานะของยุทธศาสตร์ข้อ 7-10 เป็นเพียงตัวเสริม ก็ไม่น่าที่จะแยกออกมาเป็น 4 ข้อใหญ่ และเนื้อหาเยอะ ยกตัวอย่าง การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ไม่แน่ใจว่าสอดรับกับเป้าหมายใด หากเป็นความเหลื่อมล้ำในเรื่องการพัฒนาชนบท ก็น่าที่จะไปอยู่ในยุทธศาสตร์ข้อ 2
2.       เป้าหมายมีเรื่องความยากจน แต่ยุทธศาสตร์ไม่ได้เน้นการลดความยากจน (ไปอยู่เป็นองค์ประกอบในยุทธศาสตร์ที่ 2 ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่เป็นเป้าหมาย แต่กลับไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเหมือนยุทธศาสตร์เสริมข้อ 7 - 10

ทั้งนี้ ในบทความนี้จะวิพากย์ 2 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้

1.ยุทธศาสตร์ที่ 1: การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์

วัตถุประสงค์
- เพื่อปรับเปลี่ยนให้คนในสังคมไทยมีค่านิยมตามบรรทัดฐานที่ดีทางสังคม
- เพื่อเตรียมคนในสังคมไทยให้มีทักษะในการดำรงชีวิตสำหรับโลกศตวรรษที่ 21
- เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีตลอดช่วงชีวิต
- เพื่อเสริมสร้างสถาบันทางสังคมให้มีความเข้มแข็งเอื้อต่อการพัฒนาคนและประเทศ

เป้าหมายและตัวชี้วัด (บางข้อ)

          เป้าหมายที่ 1: คนไทยส่วนใหญ่มีทัศนคติและพฤติกรรมตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม

ตัวชี้วัด: 1) ประชากรอายุ 13 ปีขึ้นไป มีกิจกรรมการปฏิบัติตนที่สะท้อนการมีคุณธรรมจริยธรรมเพิ่มมากขึ้น
          2) คดีอาญามีสัดส่วนลดลง

ข้อสังเกต
          คดีอาญาเกี่ยวข้องอะไรกับการมีทัศนคติและพฤติกรรมตามบรรทัดฐานของสังคม และเกี่ยวข้องอย่างไรกับการพัฒนาทุนมนุษย์

เป้าหมายที่
3: คนไทยมีการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลและมีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

ตัวชี้วัด:
1) คะแนน PISA ไม่ต่ำกว่า 500
2) การใช้อินเทอร์เน็ตหาความรู้เพิ่มขึ้น
3) การอ่านของคนไทยเพิ่มเป็น 85% 4) แรงงานที่ขอเทียบโอนประสบการณ์และความรู้เพื่อขอรับวุฒิ ปวช. และ ปวชส. เพิ่มขึ้น 20% ต่อปี

ข้อสังเกต
1) ควรเน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหา เช่น เน้นโรงเรียนที่มีสัดส่วนครูต่อนักเรียนสูง โรงเรียนห่างไกล โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย (เพราะหมายถึงค่าอุดหนุนจากรัฐน้อยตามไปด้วย ทำให้ไม่มีเงินทุนในการลงทุนใหม่ๆ เพื่อพัฒนาความรู้เหมือนโรงเรียนใหญ่ๆ ดังๆ ในอำเภอเมือง)
2) หากต้องการพัฒนาการศึกษา เหตุใดจึงอยากให้การเทียบโอนแรงงานได้วุฒิโดยไม่ต้องเข้าศึกษาเพิ่มขึ้น แนวทางที่ถูกควรเพิ่มสัดส่วนของแรงงานที่เข้ารับการศึกษา ลดการเทียบโอน โดยเริ่มไปศึกษาสาเหตุของการไม่มีการศึกษา ไม่มีวุฒิของแรงงานเหล่านี้ และป้องกันการออกเรียนกลางคัน การเพิ่มร้อยละการของเทียบโอนเสมือนการสนับสนุนให้ไม่ต้องเรียน แต่ให้เทียบโอนเอา
3) การที่มีการศึกษาตามมาตรฐานสากลวัดได้จาก PISA ได้อย่างเดียวจริงหรือ? หากกระทรวงศึกษายืนยันว่าข้อสอบ GAT PAT มีคุณภาพ ทำไมไม่นำมาใช้วัดประกอบด้วย

ข้อสังเกตภาพรวมของยุทธศาสตร์ที่ 1
1.       ตัวชี้วัดทางด้านสุขภาพ ไม่สอดคล้องกับ SDGs เหตุใดจึงไม่นำดัชนีอย่างอัตราการตายในเด็ก รวมถึงอายุคหวังเฉลี่ย (Expectancy rate) มาพิจารณาด้วย การมีชีวิตที่ยืนยาวน่าจะเป็นตัวชี้วัดหลักด้านทุนมนุษย์
2.       ควรเน้นดัชนีทุนมนุษย์อย่าง ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ที่จัดทำโดย UNDP เข้ามาประกอบ เพราะปัจจุบัน ไทยอยู่อันดับ 93 ของโลกตามหลังหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งแตกต่างจาก GDP ที่อยู่ TOP 50 ของโลก สะท้อนว่ามั่งคั่ง แต่ไม่มีคุณภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 2: การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
          วัตถุประสงค์
          - เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่กลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด
          - เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการทางสังคมที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง
          - เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

          เป้าหมายและตัวชี้วัด (บางข้อ)
          เป้าหมายที่ 1: ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างกัน และแก้ไขปัญหาความยากจน
          ตัวชี้วัด:
          1) รายได้เฉลี่ยต่อหัวของกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 15% ต่อปี
          2) ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ลดเหลือ 0.41
          3) การถือครองสินทรัพย์ทางการเงินของประชากรร้อยละ 40 เพิ่มขึ้น
          4) สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเหลือ 6.5%
          5. สัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ทั้งหมดของครัวเรือนของกลุ่มครัวเรือนที่จนที่สุดลดลง
          ข้อสังเกต
1.       เหตุใดไม่สนใจประชากรกลุ่ม 10 - 20% ที่ยากจนที่สุดก่อน ประชากรกลุ่ม 40% มีขนาดใหญ่เกือบเป็นครึ่งหนึ่งของประชาชน ซึ่งกว่า 30% ไม่ได้เป็นคนจน นั่นแสดงให้เห็นว่าคนจนยังไม่ใช่ Target ที่แท้จริง
2.       ค่า Gini นั้น มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยค่า Gini ล่าสุดเมื่อปี 2556 ทั่วประเทศอยู่ที่ 0.465 ซึ่งเป้าคือ 0.41 หรือต้องการลดลง 0.05 ในระยะเวลา 5 ปี แต่จากสถิตินั้น พบว่าในปี 2550 ค่า Gini ทั่วประเทศอยู่ที่ 0.499 นั่นหมายความว่า ในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา Gini ลดลงเพียง 0.034 (2550 - 2555 Gini ลดลงเพียง 0.009 และระหว่าง 2539 - 2545 Gini ลดลงเพียง 0.005) คำถามคือ แล้วการลดลง 0.05 ภายใน 5 ปีจะทำได้ไหม? ด้วยกลยุทธ์อะไร?
3.       Gini รายภาคมีความแตกต่างกันมาก ขณะนี้ Gini ภาคกลางอยู่ที่ 0.397 ซึ่งก็แปลว่าบรรลุเป้าแผนพัฒนาฯ 12 ตั้งแต่ยังไม่เริ่มดำเนินการอะไร ขณะที่ Gini ภาคใต้อยู่ที่ 0.443 สูงสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ
4.       จากข้อมูล เราพบว่า กลุ่มคนจนที่สุด 40% (วัดจากรายได้) มีรายได้เฉลี่ยในปี 2554 เท่ากับ 5,304 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่ในปี 2556 มีรายได้เท่ากับ 5,963 ต่อคนต่อเดือน ซึ่งหมายถึงว่า 2 ปี โตเพียง 12.42% คำถามคือ แล้วจะหวังให้โตปีละ 15% ทำได้ไหม? แล้วใช้กลยุทธ์อะไร
5.       เมื่อดูอย่างถี่ถ้วน พบว่าการที่โต 12.42% ในกลุ่ม 40% จนที่สุดนั้น เป็นอิทธิพลมาจากการโตขึ้นของคนชั้นกลาง กล่าวคือ คนที่มีรายได้กลุ่ม 2 (20 - 40%) มีรายได้โตขึ้น 8.94% ขณะที่คนที่จนที่สุด 20% แรก มีรายได้โตเพียง 1.09%  ดังนั้น หากการโตขึ้น 15% ต่อปีเป็นการโตขึ้นของคนที่ไม่ได้จนที่สุดในสังคม สังคมจะได้ประโยชน์อะไรจากเป้าหมายข้อนี้ เหตุใดจึงไม่เน้นการหลุดพ้นความยากจนของคนที่จนที่สุดเลย
6.       ในทางเศรษฐศาสตร์ มีการยอมรับกันว่า "รายจ่าย" ของประชากรสะท้อนความกินดีอยู่ดี คุณภาพชีวิต มาตรฐานการครองชีพของคนได้ดีกว่า "รายได้" กล่าวคือ เรามีรายได้ 100 บาท จะมีประโยชน์อะไรหาก 100 บาทนี้ไม่ได้มีไว้เพื่ออุปโภคบริโภค อาจจะนำไปจ่ายหนี้ นำไปเล่นการพนัน หรืออะไรที่ไร้ประโยชน์ไร้ค่า ความเชื่อมโยงรายได้ที่ได้กับคุณภาพชีวิตมีต่ำมาก สถิติทางด้านรายจ่ายของสศช.ก็มีอย่างพร้อมเพียง เหตุใดจึงเลือก Gini ด้านรายได้มาเป็นตัวชี้วัด ซึ่งมันไม่เหมะสม ขณะเดียวกัน แทนที่จะวัดรายได้เฉลี่ย เหตุใดจึงไม่วัดรายจ่ายเฉลี่ยแทน

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ในปี 2557 Gini ด้านรายจ่ายของคนไทย คือ 0.371 ภาคที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำมากที่สุดยังคงเป็นภาคใต้ ขณะเดียวกัน รายจ่ายของประชากรที่จนที่สุด 20% แรกเพิ่มขึ้น 5.61% ระหว่างปี 2556-2557 ขณะที่รายจ่ายของประชากรที่จนที่สุดกลุ่มสอง (20% - 40%) เพิ่มขึ้น 5.66%  ดังนั้น สถานการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำควรใช้สถิติทางด้านรายจ่ายมากกว่ารายได้ ซึ่งลวงตามาตรฐานการครองชีพที่แท้จริงเอาไว้ และเมื่อเลือกตัวชี้วัดผิด ผลการดำเนินงานย่อมผิด อาจดีเกินไปหรือแย่เกินไป ไม่มีใครทราบได้
7.       สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดเหลือ 6.5% ในระยะเวลา 5 ปี แม้ไม่มีการบอกเส้นความยากจนไว้แต่เดาว่าน่าจะเป็นเส้นความยากจนประจำชาติที่คิดโดย สศช. สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ อัตราความยากจนจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับเส้นความยากจน สศช.ต้องปรับเส้นความยากจนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม คำนึงถึง CPI และโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงการอุปโภคบริโภคเพื่อสกัดออกมาให้ได้ว่าคนจนในประเทศ แท้จริงแล้วมีเท่าไหร่
          ในปี 2557 ทั่วประเทศมีคนจนกว่า 10.53% ของประชากรทั้งหมด จะลดลงเหลือ 6.5% (หรือกว่า        4% เทียบเท่าประชากร 2.67 ล้านคน) ได้อย่างไร จากประสบการณ์การลดความยากจนของไทย เรา  พบว่าจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 ปีในการลดความยากจนลง 6-4% ดังนั้น จึงเป็นคำถามว่าจะ ทำอย่างไรให้ลดได้จริง เมื่อเส้นความยากจนสูงขึ้นทุกปี (หากเส้นความยากจนสูงขึ้นน้อยกว่ารายได้   คนจน แน่นอนว่าจะมีคนไม่จนเยอะขึ้น)
          อีกประเด็นหนึ่งคือ การลดความยากจนในแต่ละภาค กล่าวคือ ความยากจนในแต่ละภาคมีไม่เท่ากัน        ไม่มีกลยุทธ์ใดที่มุ่งลดความยากจนในภาคที่มีความยากจนรุนแรงสูงสุด ซึ่งก็คือ ภาคอีสาน ซึ่งมีความ  ยากจนทั้งภาคอยู่ที่ 17.04% การมุ่งลดความยากจนในภาคที่มีความยากจนสูงสุดจะช่วยแก้ไขความ          เหลื่อมล้ำไปในตัว ซึ่งน่าเสียดาย ที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ
          ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ แผน SDGs ในอีก 15 ปีข้างหน้า มีการตั้งเป้าว่าจะลดความยากจนให้เป็น       0 หรือไม่มีความยากจนเลย คำถามคือ สศช.จะใช้นโยบายอะไรใน 15 ปี ทำให้ประเทศปลอดคนจน
ข้อสังเกตรวม
          1. ในแต่ละตัวชี้วัด ควรระบุกลยุทธ์ให้ชัดว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่กำหนดแนวทางการพัฒนาแบบรวมขึ้นมา เพราะแสดงถึงความไม่จริงจังในการบรรลุเป้าหมาย

          นี่เป็นส่วนหนึ่งของการวิพากย์เป้าหมายและตัวชี้วัดบางข้อ ไม่กี่หน้าในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 ยังไม่ได้ลงลึกถึงโครงการที่คาดว่าจะทำเพื่อให้บรรลุผล คำถามคือ ยังพอมีเวลาอีกไหมที่จะแก้ไข? หากมี...เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันดูไปด้วยกันว่าอยากเห็นคนไทย ประเทศไทย เป็นอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า....


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รีวิวรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี้ยงไฮ้ ชั้น First Class: บทเรียนจากจีนสู่ไทย

วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผมมีโอกาสได้ไปทำวิจัยเรื่องศักยภาพสินค้าไก่ระหว่างไทย-จีน ณ ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 9 - 14 พฤษภาคม 2560 และได้มีโอกาสนั่งรถไฟความเร็วสูง (High-speed Train/Bullet Train) เส้นทางปักกิ่ง (Beijing) ไปเซี้ยงไฮ้ (Shanghai) จึงมารีวิวและเขียนข้อเสนอแนะเพิ่มเติมครับ รถไฟความเร็วสูงของจีน (High-speed rail; HSR) บริหารโดยรัฐวิสาหกิจที่มีชื่อว่า China Railway Corporation (คงคล้ายๆ กับรฟท.ของไทย) ได้ชื่อว่ามีโครงข่ายที่ยาวที่สุดในโลก (เพราะอาณาเขตพื้นที่ของจีนนั้นยิ่งใหญ่มหาศาลเหลือเกิน) มีเส้นทางรวมกันกว่า 22,000 กิโลเมตร และมีโครงการที่ขยายเส้นทางให้ครอบคลุมถึง 38,000 กิโลเมตรในอนาคต รถไฟความเร็วสูงของจีนเริ่มต้นให้บริการในปี พ.ศ. 2550 โดยมียอดการใช้บริการมากกว่า 1 พันล้านคนต่อปี เส้นทางของรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี้ยงไฮ้อยู่ที่ 1,318 กิโลเมตร เทียบได้กับเชียงใหม่-สุราษฏร์ธานี โดยให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 (เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2551) โดยเส้นทางดังกล่าวถือเป็นเส้นทางที่สร้างกำไรให้กั

กนง. ลดอัตราดอกเบี้ย ดีหรือไม่?

Photo Source: http://www.dailynews.co.th สรุปสั้นๆ>> "กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ เหลือ 2.25 ธนาคารพาณิชย์ตอบรับด้วยการลดดอกเบี้ยทั้งฝากและกู้"  วิเคราะห์ >>  1. ดอกเบี้ย สามารถพิจารณาได้เป็น 2 อย่าง คือเป็นทั้งผลตอบแทน (Rewards) ของการฝากเงิน และเป็นต้นทุน (Cost) หรื อราคาของการกู้ ดังนัน หากลดอัตราดอกเบี้ยลง ย่อมจูงใจให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเข้ามา "กู้เงิน" มากยิ่งขึ้น 2. สำหรับภาคธุรกิจ กู้เพื่อนำไปลงทุนหรือขยายกิจการ ซื้อเทคโนโลยี การตลาด ต่างๆ นานา การลงทุนของเอกชนนี้ หากเป็นการขยายร้านหรือลงทุนทางกายภาพ จะ"ส่งผลต่อเนื่อง"ไปยังตลาดสินค้าและบริการรวมถึงตลาดแรงงาน นับเป็นผลทางบวก 3. สำหรับภาคครัวเรือน การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเปิดโอกาสให้กู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น อย่างที่กล่าวว่าดอกเบี้ยคือราคาของการกู้ เมื่อราคาถูกลง ตามหลักอุปสงค์อุปทานพื้นฐาน ปริมาณเสนอซื้อหรือความต้องการซื้อหรือในที่นี่คือความต้องกู้ย่อมมากขึ้นเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตามต้องมีการระวังในเรื่องของฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะวิกฤติฟองสบ

พม่า..ผืนแผ่นดินทอง

ข้อมูลพื้นฐานประเทศพม่า ประเทศพม่า (Burma  หรือ  Myanmar)  มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า" ( Republic of the Union of Myanmar ) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคาบสมุทรอินโดจีน มีพรมแดนทางแผ่นดินติดต่อกับ 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย จีน บังคลาเทศ ลาว และไทย ทั้งนี้ พม่าเคยอยู่ภายใต้อาณานิยมของอังกฤษในช่วง พ.ศ. 2367-2485 และ 2488-2491 ด้วยพื้นที่ 261 , 789 ตารางไมล์ ( 678 , 034 ตารางกิโลเมตร ) แบ่งเป็นพื้นที่ทางบก 657,740 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ทางน้ำ 20,760 ตารางกิโลเมตร   อาณาเขต                  ทางฝั่งตะวันตกอยู่ติดกับบังกลาเทศ ทางเหนือติดกับอินเดียและจีน   ทางตะวันออกติดกับลาวและไทย ทางตอนใต้ของประเทศจะอยู่ติดกับอ่าวเบงกอลและทะเล  อันดามัน จังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับพม่า มี 10 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและระนอง   การปกครอง แบ่งเป็น 7 ภาคได้แก่ เขตอิระวดี เขตมาแกว เขตมัณฑะเลย์ เขตพะโค ( หงสาวดี) เขตสะกาย เขตตะนาวศรี และเขตย่างกุ้ง และ 7 รัฐ ได้แก่ รัฐยะไข่ รั