ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

กฎแห่งวัฏจักรสังคมกับความเป็นไปได้ของยุคทองในประเทศไทย

Picture Source:http://www.thailanddaddy.com/early_thailand_history.html

           หลังจากที่แนวคิดการกำหนดแน่ทางประวัติศาสตร์ (Historical Determinism) ซึ่งเป็นการที่ประวัติศาสตร์ได้ดำเนินไปตามรูปแบบที่แน่นอนซึ่งสามารถสังเกตุได้และเราสามารถพยากรณ์ได้หายไปจากแวดวงวิชาการนานมากแล้วหลังจากถูกหักล้างโดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่อันไม่สอดคล้องกับแนวคิดเดิม อย่างไรก็ตาม ซาร์การ์ (P.R. Sarkar) นักวิชาการชาวอินเดียได้พัฒนาแนวคิดกฎแห่งวัฏจักรสังคม (Law of Social Cycle) ขึ้นมาซึ่งเป็นการพยายามที่จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงของสังคมอันมีแบบแผนผ่านช่วงเวลาระยะยาว เนื้อหาของกฎแห่งวัฏจักรสังคมคือคนเรามีเป้าหมายที่คล้ายคลึงกัน แต่วิธีการในการบรรลุเป้าหมายนั้นแตกต่างกันเนื่องจากคนแต่คนมีคุณลักษณะทั้งภายนอกและภายในที่แตกต่างกัน โดยซาร์การ์ได้แบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกหมายถึงคนที่มีร่างกายแข็งแรง มีกำลังวังชา มีความกล้าหาญ ทำงานมีอาชีพเกี่ยวกับการใช้ความชำนาญทางร่างกาย ซาร์การ์เรียกคนเหล่านี้ว่ามีจิตใจอย่างนักรบ (Warrior) คนในชนชั้นนี้ได้แก่ ทหาร พนักงานดับเพลิง ตำรวจ นักกีฬาอาชีพ คนงานมีฝีมือ และคนอื่นๆที่แก้ปัญหาต่างๆด้วยการใช้กำลังและกล้ามเนื้อ กลุ่มที่สองนั้นเป็นคนที่ขาดความแข็งแรงของร่างกายแต่มักใช้สมอง พยายามพัฒนาสมองเพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา โดยคนพวกนี้คือพวกปัญญาชน (Intellectual) โดยหมายถึงนักปรัชญา นักเขียน ผู้คงแก่เรียน นักกฎหมาย แพทย์ กวี วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ผู้ทำงานนั่งโต๊ะ และนักบวช เนื่องจากคนเหล่านี้ใช้สมองมากกว่ากล่ามเนื้อในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย กลุ่มที่สามหมายถึงผู้ที่พยายามสะสมทรัพย์เพื่อให้บรรลุสิ่งที่ต้องการ บางคนสติปัญญาเฉียบแหลมแต่สมองคิดถึงเพียงแต่เรื่องเงินเป็นส่วนใหญ่ แต่สติปัญญาจะด้อยกว่าพวกปัญญาชน ตามปกติมักจะรวยกว่าคนสองประเภทแรก คนเหล่านี้คือว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของพวกเขา เป็นกุญแจสำคัญในการไปถึงความสำเร็จ โดยคนพวกนี้คือพวกสะสมทรัพย์ (Acquisitor) ได้แก่ พ่อค้า นายธนาคาร นักธุรกิจ คนปล่อยเงินกู้ เจ้าของที่ดิน เป็นต้น กลุ่มที่สี่เป็นชนชั้นแรงงาน (Laborer) โดยเป็นแรงงานไร้ฝีมือหรือกรรมกร คนประเภทนี้ไม่มีความแข็งแกร่งเยี่ยงนักรบ ไม่มีสติปัญญาเยี่ยงปัญหาชน และไม่มีการสะสมทรัพย์อย่างพวกที่สาม ระดับการศึกษาต่ำ ไม่มีความทะเยอทะยาน ไม่มีความชำนาญด้านการตลาด และมักถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลาและยากจนที่สุดในบรรดาคนทั้งสี่กลุ่ม คนประเภทนี้หมายถึงเกษตรกรและกรรมกรไร้ฝีมือในโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามก็จะมีข้อยกเว้น เช่น คนที่เป็นแรงงานอาจมีพวกสมองดีเป็นอยู่ดี คนที่เป็นปัญญาชนสามารถร่ำรวยได้ด้วยเช่นกัน โดยคนทั้งสี่กลุ่มนี้ดำรงอยู่ในสังคมทุกสังคม และดำรงอยู่มานับตั้งแต่โบราณแล้ว อย่างไรก็ตาม การจำแนกชนชั้นนั้นไม่ได้ตายตัว การเคลื่อนที่ทางสังคมอาจเกิดขึ้นได้ถ้าสภาพจิตใจของบุคคลเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่น กรรมกรอาจยกระดับความชำนาญในฝีมือของตนจนกลายเป็นนักรบ หรือหากไปเริ่มเพิ่มเติมอาจกลายเป็นปัญญาชน การเคลื่อนที่ทางสังคมนั้นเกิดขึ้นได้แต่ทำได้ยาก การเปลี่ยนนักมวยให้กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์คงเป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลานานแต่ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้
                ซาร์การ์เสนอว่าสังคมจะดำเนินไปในสี่ยุคสมัยที่แตกต่างกัน บางยุคนักรบขึ้นมามีอำนาจควบคุมระบบการเมืองและสังคม บางยุคปัญญาชนขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจ บางยุคผู้สะสมทรัพย์มีอำนาจ ผู้ใช้แรงงานไม่เคยมีอำนาจแต่บางเวลาชนชั้นปกครองมีความเห็นแก่ตัวและฉ้อฉลมากจนคนส่วนใหญ่ในสังคมถูกทอดทิ้งให้ยากจน ประชาชนมัวยุ่งอยู่แต่กับการทำมาหากินจนไม่มีเวลาเหลือมาชื่นชมกับศิลปะ ดนตรี กวีนิพนธ์ ซึ่งอาจเรียกเวลาเช่นนี้ว่าเป็นยุคของผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้ก็ไม่มีชนชั้นได้ที่จะกุมอำนาจไว้ได้ตลอดกาล แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการเคลื่อนไหวทางสังคมจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่งนั้นมีแบบแผนที่แน่นอน โดยเริ่มจาก “ยุคผู้ใช้แรงงาน ไปสู่ยุคของนักรบ จากยุคของนักรบไปสู่ยุคของปัญญาชน จากยุคปัญญาชนไปสู่ยุคของผู้สะสมทรัพย์ซึ่งหลังจากนั้นจะเป็นจุดสุดยอดของการปฏิวัติสังคมและเข้าสู่ยุคของครั้งใหม่เมื่อสังคมเข้าสู่ยุคนักรบอีกครั้งหนึ่ง” การเปลี่ยนแปลงของยุคเป็นการเปลี่ยนจากชนชั้นที่มีสภาพจิตใจอย่างหนึ่งไปสู่ชนชั้นที่มีสภาพจิตใจอีกอย่างหนึ่ง ซาร์การ์เชื่อว่าสังคมเป็นองคภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อารยธรรมหนึ่งๆอุบัติขึ้นพร้อมๆกับการที่นักรบก้าวขึ้นมามีอำนาจและหลังจากที่พวกเขารุ่งเรื่องขึ้นและเสื่อมทรามลงผ่านยุคของปัญญาชน ยุคของผู้สะสมทรัพย์และยุคของผู้ใช้แรงงาน ก็จะหวนกลับไปสู่ยุคของนักรบอีกครั้ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบวิวัฒน์อันสอดประสานกับจังหวะเดิม นี่คือกฎแห่งวัฏจักรสังคมของซาร์การ์ โดยในยุคของผู้ใช้แรงงานเป็นสังคมที่ขาดการชี้นำ ขาดผู้นำและขาดอำนาจ เป็นสังคมที่ผู้นำมีความเห็นแก่ตัวและละโมบ ไร้ระเบียบสังคม ครอบครัวขาดความผูกผัน ผู้คนเหยียดหยามคุณค่าและสิ่งที่ดีงามต่อชีวิต ศีลธรรมเสื่อมโทรมสุดขีด เกิดอาชญากรรมรุนแรง ลัทธิวัตถุนิยมเข้าครอบงำสังคม ระดับการศึกษาต่ำสุด ในยุคของนักรบนั้น กองทัพที่นำโดยกษัตริย์ จักรพรรดิ หรือ ประธานาธิบดีเป็นผู้ควบคุมรัฐบาลและสังคม อำนาจการเมืองรวมศูนย์ในรูปของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาชนพลเมืองมีระเบียบวินัยสูง ความผูกผันรักใครในครอบครัวมีมาก ศีลธรรมอันดีงามเกิดขึ้น สตรีได้รับการยกย่อง ในยุคของปัญญาชน ผู้ปกครองมีบรรดาปัญญาชนเป็นผู้ช่วยเหลือโดยการตั้งทฤษฏีอันแยบยลขึ้นสนับสนุนระบอบการปกครอง ปัญญาชนมีสภาพสังคมสูง มีสมองอันชาญฉลาด สุขุม รอบคอบและเคร่งทฤษฏี เป็นการเอาชนะปัญหาต่างๆด้วยปัญญา ในส่วนของยุคของผู้สะสมทรัพย์นั้นประกอบด้วยคนรวยหลายกลุ่ม ความสุขสบายทางวัตถุและอำนาจทางการเมืองได้มาด้วยทรัพย์ ในยุคนี้จิตใจของผู้คนล้วนมุ่งแสวงหาแต่ทรัพย์ เงินเป็นตัวแปรสำคัญในการดำเนินชีวิตไม่ว่าจะในหน่วยใหญ่หรือหน่วยย่อยก็ตาม สภาพจิตใจของผู้สะสมทรัพย์จะขยายไปยังกลุ่มอื่นทั่วสังคม ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นเรื่องของการค้าทั้งหมด อาชญากรรมเจริญงอกงามขึ้นเนื่องจากความเอนเอียงในการกระจายของทรัพย์ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการละเมิดกฎหมาย ความผูกพันในครอบครัวลดน้อยลง สถิติการหย่าร้างเพิ่มขึ้นและการค้าประเวณีมีอยู่ดาษดื่นในสังคม เมื่อเวลาผ่านไป ทรัพย์ตกไปอยู่ใมนมือของคนรวยมากขึ้น ยุคของผู้สะสมทรัพย์เป็นใหญ่จะเคลื่อนเข้าสู่ยุคของผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในสภาพไร้กฎหมาย ในที่สุดสังคมก็จะเสื่อมทรามลง นักรบและปัญญาชนที่ไม่พึงพอใจกับสภาพบ้านเมืองก็จะลุกฮือขึ้นก่อกบฏด้วยความช่วยเหลือของผู้ใช้แรงงาน ในไม่ช้านักรบที่พากันก่อกบฎก็จะได้รับชัยชนะ และสังคมก็จะดำเนินไปตามวัฏจักสังคมอีกครั้งหนึ่ง
                กฎแห่งวัฏจักรสังคมของซาร์การ์กล่าวว่า อำนาจและอิทธิพลของชนชั้นหนึ่งจะเปลี่ยนมือไปยังอีกชนชั้นหนึ่งในรูปแบบที่แน่นอน จากยุคผู้ใช้แรงงานไปยังยุคของปัญญาชน ยุคของผู้สะสมทรัพย์และหลังจากนั้นเป็นยุคของผู้สะสมทรัพย์รวมกับผู้ใช้แรงงาน และผ่านไปสู่การปฏิวัติทางสังคมและเข้าสู่ยุคของนักรบอีกครั้งหนึ่ง หัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมคือยุคของผู้ใช้แรงงานที่เกิดขึ้นต่อจากยุคของผู้สะสมทรัพย์ ในยุคของผู้สะสมทรัพย์รวมกับผู้ใช้แรงงานนั้น ผู้สะสมทรัพย์ยังคงอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจแต่พวกเขาก็จะไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญและความแข็งแกร่งขององค์กรผู้ใช้แรงงานในปัจจุบันได้ โดยหมายถึงยุคใกล้ที่จะสิ้นสุดยุคของผู้สะสมทรัพย์ เมื่อความมั่งคั่งกระจุกตัวในหมู่คนรวยมากขึ้น มาตรฐานการดำรงชีพของคนชั้นอื่นอีกสามชั้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งถึงเวลาที่สังคมถึงความเสื่อมทรามอย่างหนัก จะมีคนอยู่สองกลุ่มเท่านั้นคือคนที่มีทรัพย์กับคนที่ไม่มีทรัพย์ ความหิวโหยจะเป็นเสมือนหมอกปกคลุมสังคม อาชญากรรมและความชั่วร้ายจะเกิดขึ้นเป็นเหมือนฝุ่นละอองที่ลอยตัวขึ้นให้คนในสังคมได้จามกันถ้วนหน้า มวลชนจะมีการลุกฮือขึ้นปฏิวัติโดยมีนักรบและปัญญาชนเป็นผู้นำซึ่งในขณะนี้พวกเขามีวิธีคิดแบบชนชั้นแรงงานไปแล้ว ซาร์การ์เรียกการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้ว่าการปฏิวัติของผู้ใช้แรงงาน เป็นการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในปลายของยุคผู้สะสมทรัพย์ เป็นการสิ้นสุดยุคของผู้สะสมทรัพย์โดยมีนักรบและปัญญาชนที่ไม่พอใจระบบเดิมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง การปฏิวัติของผู้ใช้แรงงานสะท้อนความเป็นจริงที่ว่า ชนชั้นแรงงานไม่ได้เป็นผู้นำในการปฏิวัติ แต่พวกเขาได้รับการชี้นำและวางแผนโดยกลุ่มคนที่ถูกลดฐานะลงจนยากจนเหมือนกับคนชนชั้นแรงงาน การปฏิวัติของผู้ใช้แรงงานของกำจัดอิทธิพลของผู้สะสมทรัพย์ทิ้งไป และสังคมใหม่จะเกิดขึ้นจากคนที่เป็นของพวกนักรบอีกครั้งหนึ่งตามวัฏจักรของสังคม
                ตัวอย่างของประวัติศาสตร์คืออารยะธรรมตะวันตก เริ่มตั้งแต่อาณาจักรโรมันที่ปกครองโดยนักรบที่มีออกัสตัสเป็นจอมจักรพรรดิที่มีอำนาจสูงสุด ยุคนี้เป็นยุคการปกครองโดยใช้อำนาจเด็ดขาดและใช้กำลังทหารเอาชนะศัตรู การปกครองที่จักพรรดิมีอำนาจสูงสุดอยู่ใน ค.ศ. 284 ด้วยการก้าวขึ้นมามีอำนาจของไดโอคลีติอัน หลังจากนั้นโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของอาณาจักรโรมันอ่อนแอลงเนื่องจากความล้มเหลวทางด้านการเกษตรกรรมและพาณิชยกรรม การไม่มีกฏหมายเกี่ยวกับการสืบทอดทายาทของผู้ปกครองก่อให้เกิดความขัดแย้งถึงขั้นนอกเลือดโดยสถานการณ์บ้านเมืองทรุดโทรมลงทุกขณะ และในช่วงนั้นเองศาสนาคริสต์อันเป็นตัวแทนของยุคปัญญาชนได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ศาสนจักรคาธอลิกได้รับความสำเร็จมากเพราะสามารถชี้นำและช่วยเหลือผู้ที่ถูกกดขี่ข่มแหงในเวลาที่อาณาจักรกำลังจะล่มสลายลงเนื่องจากการปกครองแบบจักรพรรดิ ยุคของปัญญาชนในตะวันตกกินเวลานับจากตอนกลางศตวรรษที่ห้ามาถึงราวสิ้นสุดศตวรรษที่เก้า ในช่วงสี่ร้อยปี พวกนักบวชเป็นผู้ควบคุมสังคมโดยสิ้นเชิง ยุคของปัญญาชนสิ้นสุดในตอนปลายศตวรรษที่เก้าเมื่อเหตุการณ์ต่างๆนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของบรรดาเจ้าที่ดินซึ่งได้ขึ้นถึงจุดสุดยอดในระบบฟิวดัล จากนั้นอำนาจการปกครองของปัญญาชนได้นำไปสู่อำนาจการปกครองของผู้สะสมทรัพย์ ปัญญาชนยอมอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าของที่ดิน ยุคของผู้สะสมทรัพย์กินเวลาจากต้นศตวรรษที่สิบถึงราวกลางศตวรรษที่สิบสี่ หลังจากนั้นเกิดสงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ส่งผลให้เกิดยุคของผู้สะสมทรัพย์ร่วมกับผู้ใช้แรงงาน อันเป็นยุคแห่งความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองซึ่งเป็นคนรวยกับทาส เป้นช่วงที่ยุโรปมีอาชญากรรมมากมาย ชาวชากับเจ้าของที่ดินฆ่าฟันกันอย่างดุเดือดและนองเลือด หลังจากนั้นภายหลังการปฏิวัติสังคม นักรบได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง โดยยุคของนักรบเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1460 โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ปราบกบฏขุนนางในฝรั่งเศสแล้วสถาปนาการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นในประเทศเสปน พระนางอลิซาเบธและเจ้าชายเฟอร์ดินานขึ้นสู่ราชบัลลังก์ใน ค.ศ. 1470 ในประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ยุคของนักรบสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1688 เมื่อเกิดการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) เพื่อล้มล้างระบบกษัตริย์ ปัญญาชนกลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งแต่มาในรูปแบบของนายกรัฐมนตรี ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 อำนาจอิทธิพลของปัญญาชนในฝรั่งเศสและยุโรปกลาง ยุคของปัญญาชนครั้งที่สองดำเนินไปจนกระทั่ง ค.ศ. 1860 เมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมส่งผลให้นายทุนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงในสังคม นักธุรกิจ นักการธนาคารและพ่อค้าซึ่งมีสภาพจิตใจแบบผู้สะสมทรัพย์ มีอำนาจอิทธิพลมากขึ้น นับตั้งแต่นั้นมาผู้สะสมทรัพย์ก็ได้กลายเป็นผู้ปกครองตะวันตก ในปัจจุบันสังคมตะวันตกกำลังย่างเข้าสู่ยุคของผู้สะสมทรัพย์ร่วมกับผู้ใช้แรงงานอีกครั้งหนึ่ง หลักฐานคือการขัดแย้งกันบ่อยครั้งของบริษัทที่มั่งคั่งกับสหภาพแรงงาน ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม โสเภณี การยึดติดกับวัตถุและความป่วยไข้เกิดขึ้นอย่างมากมายในสังคมตะวันตก ความขัดแย้งทางสังคมในตะวันตกจะดำเนินไปเรื่อยๆจนกว่าสภาพจิตใจแบบสะสมทรัพย์จะถูกกำจัดทิ้งไป เมื่อนั้นสังคมก็จะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ยุคของนักรบอีกครั้งหนึ่ง
                ระวี พัตรา ได้พูดถึงกฎแห่งวัฏจักรสังคมว่าสังคมจะเข้าสู่ยุคทองเมื่อผ่านการปฏิวัติสังคมจากยุคของผู้สะสมทรัพย์ร่วมกับยุคของผู้ใช้แรงงานไปสู่ยุคของนักรบ โดยมีตัวอย่างของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เช่น อาณาจักรโรมันที่มีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่โดยมีนักรบเป็นผู้นำของสังคม และประเทศจีนที่มีนายพลเป็นผู้นำของประเทศ ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าประเทศจีนนั้นเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ในยุคปัจจุบัน เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งจากอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.5% ต่อไปนับตั้งแต่ ค.ศ. 1978 และรายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้น 4 เท่านับตั้งแต่การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเปิดประเทศ ยุคทองหมายถึงยุคที่เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองดำเนินไปอย่างมีความราบรื่น คลื่นของความวุ่นวายไม่มาก่อกวนชายหาดแห่งความความสงบของจิตใจอันเป็นที่ตั้งอยู่ถิ่นฐานมนุษยชาติ ยุคทองเป็นยุคที่เรืองรองของประวัติศาสตร์ ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีบนพื้นฐานของสังคมที่ดี มีความเมตตาเกื้อกูลกันระหว่างประชาชน ทั้งนี้การเข้าสู่ยุคของได้ต้องผ่านเครื่องมือที่เรียกว่าการปฏิวัติทางสังคม (Social Revolution) ซึ่งเป็นการส่งผ่านของอำนาจของผู้สะสมทรัพย์ร่วมกับผู้ใช้แรงงานไปสู่ยุคของนักรบ สาเหตุที่บอกว่ายุคของนักรบนั้นเป็นยุคทองเนื่องจากในยุคของนักรบ เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบ สตรีถูกยกย่อง ความยากจนและความเหลื่อมล้ำถูกบั่นทอนด้วยการกระจายของทรัพยากรที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ตัวอย่างของยุคทองที่มาจากยุคของนักรบ เช่น ตัวอย่างเศรษฐกิจอันรุ่งเรืองของจีนในปัจจุบัน และ อาณาจักรโรมันในอดีตนั่นเอง
                สำหรับบริบทกฎแห่งวัฏจักรสังคมในประเทศไทยนั้นอาจกล่าวได้ว่าอำนาจการปกครองนั้นหลายครั้งที่มีการเปลี่ยนเวียนผ่านระหว่างชนชั้นนักรบ ชนชั้นปัญญาชน และชนชั้นผู้สะสมทรัพย์ โดยข้าพเจ้าขอเริ่มอธิบายตั้งแต่ยุคของชนชั้นนักรบเมื่อครั้งปฏิวัติประเทศในครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2549 ก่อนหน้านั้นอำนาจการปกครองตกอยู่ในมือของผู้สะสมทรัพย์โดยนายกรัฐมนตรีมาจากนักธุรกิจ ผู้คนในสังคมเห็นว่าการสะสมทรัพย์เป็นหัวใจหลักของการดำเนินชีวิต ความยากจนมีลดน้อยลงเนื่องจากการกระจายของทรัพย์เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นผลมาจากนโยบายกองทุนหมู่บ้านและโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สร้างสระน้ำของแรงงานให้เกิดขึ้นในชนบท โดยสังเกตุจากสัดส่วนของคนจน (วัดจากสัดส่วนของคนจนที่ตกอยู่ภายใต้เส้นความยากจนกับจำนวนประชากรทั้งหมด) ลดลงจากร้อยละ 18.8 ในปี พ.ศ. 2544 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.55 ในปีพ.ศ. 2549 อย่างไรก็ตามความเหลื่อมล้ำในมิติของรายได้โดยวัดจากสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) มีความผันผวนขึ้นๆลงๆ แต่สรุปแล้วค่าดังกล่าวมีค่าเพิ่มขึ้นจาก 0.507 ในปีพ.ศ. 2545 มาอยู่ที่ 0.515 ในปีพ.ศ. 2549 โดยกล่าวได้ว่าประชาชนมีการกระจายรายได้ที่แย่ลงโดยสูงกว่าค่าดัชนีจีนีมาตรฐานสากลที่ 0.4 ทั้งนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2549 อาจกล่าวได้เป็นประเทศไทยเข้าสู่ยุคของผู้สะสมทรัพย์ร่วมกับผู้ใช้แรงงาน สังเกตุจากสภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น ดัชนีครอบครัวอบอุ่นลดลงจาก 66.28 ในพ.ศ. 2544 มาอยู่ 62.24 ในพ.ศ. 2549 จำนวนอาชญากรรมเพิ่มขึ้นจาก 304 ต่อแสนคนในปีพ.ศ. 2547 เพิ่มขึ้นมาที่ 367.8 ต่อแสนคนในปีพ.ศ. 2549 โดยยุคของผู้สะสมทรัพย์ร่วมกับยุคของผู้ใช้แรงงานถูกแทนด้วยการทำปฏิวัติเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 โดยกลุ่มของทหาร ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคของนักรบ ยุคของนักรบดำเนินไปในช่วงระยะเวลา พ.ศ. 2549 – 2550 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวพบว่าสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คนจนลดลงจาก6.1 ล้านคนในปี พ.ศ. 2549 มาอยู่ที่ 5.4 ล้านคนในปีพ.ศ. 2550 รายได้เฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 119,634 บาทต่อปีในปี พ.ศ. 2549 เพิ่มมาเป็น 129,089 ในปีพ.ศ. 2550 ค่าสัมประสิทธิ์จีนีที่วัดความเหลื่อมล้ำลดน้อยลงจาก 0.515 มาเป็น 0.497 อย่างไรก็ตามอัตราอาชญากรรมเพิ่มขึ้นจาก 367.8 ต่อแสนคนในปีพ.ศ. 2549 มาอยู่ที่ 403.4 ในพ.ศ. 2550 ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขลดลงจาก 65.89 มาอยู่ที่ 65.35 และดัชนีครอบครัวอบอุ่นลดลงจาก 62.24 มาอยู่ที่ 61.65 ทั้งนี้เมื่อยุคของนักรบสิ้นสุดลงด้วยการเลือกตั้ง ประเทศไทยได้เข้าสู่ความวุ่นวายในทางการเมือง มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งสลับกันไป เป็นภาพรวมของสังคมที่ไม่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทุกอย่างเริ่มดีขึ้น สังคมก็ได้ถูกเปลี่ยนมือมาอยู่ในยุคของปัญญาชนนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ถือว่าเป็นยุคของปัญญาชน ผู้นำมีความรู้ความสามารถ คงแก่เรียน ศิลปะวัฒนธรรมเริ่มกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงหลักฐานต่างๆของสังคม พบว่าในปี พ.ศ. 2553 นั้นจำนวนคนจนลดลงมากที่ 5.1 ล้านคน รายได้เฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นมาที่ 150,118 บาทต่อคนต่อปี ค่าสัมประสิทธิ์จีนีลดลงมาอยู่ที่ 0.48 ดัชนีครอบครัวอบอุ่นเพิ่มขึ้นมาเป็น 63.08 อย่างไรก็ตามอัตราอาชญากรรมเพิ่มขึ้นมาเป็น 551.1 ต่อแสนคน และในปัจจุบัน ประเทศไทยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยถือเป็นยุคของผู้สะสมทรัพย์เนื่องจากผู้นำทำเป็นนักธุรกิจมาก่อน เงินกลายเป็นส่วนสำคัญของสังคม ไม่ว่าจะดำเนินการใดใดย่อมใช้เงินทั้งสิ้น ความมั่งคั่งและร่ำรวยผสานกับลัทธิวัตถุนิยมเป็นตัวแปรสำคัญของสังคมที่จะอยู่รอด การธุรกิจและการค้าถือว่าเจริญเติบโตในทางบวกนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 ตลาดหุ้นของประเทศไทยกลับมาสดใสอีกครั้งในรอบหลายปี ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าค่าครองชีพของผู้คนก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
                โดยผู้เขียนขอคาดการณ์โดยยึดหลักวัฏจักรสังคมของซาร์การ์ว่า อีกในไม่ช้า ปัญหาของสังคมจะประเทศจะเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น ความยากจนของประชาชนจะมีมากยิ่งขึ้นจากหลักฐานในปัจจุบันที่ระดับราคาสินค้าไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน แก๊สหุงต้ม หรือราคาอาหารเช่น ไข่ไก่ เนื้อหมู สูงขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนจะเริ่มได้รับความเดือดร้อนจากสภาะเศรษฐกิจแบบฟุ้งเฟ้อจนยากที่จะหลีกเลี่ยง แม้สินค้าบางชนิดจะมีราคาแพง แต่ก็มีสินค้าบางอย่างที่มีราคาต่ำรอการรับซื้อของรัฐไม่ว่าจะเป็นราคาข้าวโพดในภาคกลาง ปาล์มน้ำมันในภาคใต้ หรือผักบางชนิด เช่น กระเทียม ในจังหวัดเชียงใหม่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติของรายได้จะเพิ่มมากขึ้น คนรวยจะรวยมากขึ้นจากการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการที่สังคมถูกนำโดยผู้สะสมทรัพย์ ส่วนคนจนจะเดือดร้อนจากระดับรายได้ที่อยู่เพียงระดับยังชีพแต่ต้องแบกรับกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ปัญหาโสเภณีและอาชญากรรมจะสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย ยาเสพติดที่ข่าวมีอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เว้นในแต่ละวันจะค่อยบั่นทอนความมั่นคงของสังคมที่สร้างขึ้น หรือการโยกย้ายข้าราชการของนักการเมืองเลือกที่รักมักที่ชัง เช่น ตัวอย่างของปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ โดยเป็นการเด้งแบบฟ้าผ่า ไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบใดๆ ทั้งนี้จะเห็นปรากฎการณ์ที่คนหลายกลุ่มได้พยายามต่อต้านการกระทำดังกล่าวและมาให้กำลังใจปลัดคนนั้นโดยการกระทำเช่นนี้ ซาร์การ์ได้เคยยกตัวอย่างถึงความกล้าหาญของคนในประเทศอเมริกาที่กล้าที่จะประท้วงหรือวิจารณ์การกระทำต่างๆที่ไม่ถูกต้อง และความกล้าหาญนี้เองก็เป็นสัญญาณของยุคนักรบ ท้ายที่สุดสุดสังคมก็จะถูกเปลี่ยนมือจากผู้สะสมทรัพย์ไปยังยุคของผู้สะสมทรัพย์ร่วมกับผู้ใช้แรงงาน โดยในอนาคตจะมีการประท้วงที่รุนแรงเกิดขึ้นซึ่งก็เกิดจากปัญญาชนซึ่งก็คือนักวิชาการจากแวดวงต่างๆ เช่น กลุ่ม Arab Spring ในประเทศอาหรับ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์หรือตูนิเซีย ในประเทศไทยก็เช่น กลุ่มคนเสื้อหลากสีหรือกลุ่มนิติราษฎร์และกลุ่มอื่นๆที่มีกลุ่มของนักวิชาการและนักรบอยู่เบื้องหลังโดยมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ถ่ายทอดสภาวะจิตใจโดยรวมของสังคม หากผู้อ่านได้ลองพิจารณาเวปไซต์หรือการใช้เฟซบุคในปัจจุบันจะพบว่ามีการเคลื่อนไหวที่เป็นพลังเงียบที่คนต่างที่มาร่วมแสดงความคิดเห็น แสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน พลังเงียบเหล่านี้นับว่าเป็นพลังเงียบที่มีอิทธิพลอย่างมากที่วันหนึ่งสามารถลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติชาติบ้านเมืองด้วยตัวของพวกเขาเองอย่างที่กลุ่มเสื้อการเมืองหลากสีได้กระทำกันในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ยุคของผู้สะสมทรัพย์ร่วมกับผู้ใช้แรงงานจะถูกทดแทนสานต่อและกลับเข้าสู่รูปแบบของวัฏจักรสังคมด้วยยุคของนักรบโดยมีผู้นำที่อาจเป็นทหารหรือตำรวจหรือผู้นำที่มีจิตใจแข็งแกร่ง กล้าหาญ เข้ามาทำหน้าที่เพื่อให้สังคมดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย บทบาทของสตรีจะถูกยกย่องให้สูงขึ้น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหายาเสพติด โสเภณีจะลดน้อยลงและทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคทอง ทั้งนี้บทความนี้ผู้เขียนไม่ได้มีจุดประสงค์ในการยุยงส่งเสริมให้มีการแตกความสามัคคีหรือซ้ำเติมสถานการณ์ต่างๆของบ้านเมือง เพียงแต่ทำนายตามที่วัฏจักรสังคมที่ซาร์การ์ได้เขียนไว้เท่านั้นเอง ท้ายที่สุดนี้ยุคทองของประเทศไทยจะสอดคล้องกับยุคทองของประเทศอื่นๆที่มีกลุ่มนักรบเป็นผู้นำทางสังคมภายหลังการปฏิวัติสังคมหรือไม่นั้นต้องติดตามต่อไปและเชื่อแน่ว่าหากประชาชนทุกคนในประเทศไทยมีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาประเทศ เมื่อนั้นความปรองดองที่ทุกคนใฝ่ฝันก็จะปรากฏในไม่ช้า

เอกสารอ้างอิง
The new golden age – Ravi Batra
The great depression of 1990 – Ravi Batra  แปลโดย สมบูรณ์ ศุภศิลป์
การปฏิรูปประเทศไทยเข้าสู่รัฐสวัสดิการ วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
ข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมจากเวปไซต์สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รีวิวรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี้ยงไฮ้ ชั้น First Class: บทเรียนจากจีนสู่ไทย

วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผมมีโอกาสได้ไปทำวิจัยเรื่องศักยภาพสินค้าไก่ระหว่างไทย-จีน ณ ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 9 - 14 พฤษภาคม 2560 และได้มีโอกาสนั่งรถไฟความเร็วสูง (High-speed Train/Bullet Train) เส้นทางปักกิ่ง (Beijing) ไปเซี้ยงไฮ้ (Shanghai) จึงมารีวิวและเขียนข้อเสนอแนะเพิ่มเติมครับ รถไฟความเร็วสูงของจีน (High-speed rail; HSR) บริหารโดยรัฐวิสาหกิจที่มีชื่อว่า China Railway Corporation (คงคล้ายๆ กับรฟท.ของไทย) ได้ชื่อว่ามีโครงข่ายที่ยาวที่สุดในโลก (เพราะอาณาเขตพื้นที่ของจีนนั้นยิ่งใหญ่มหาศาลเหลือเกิน) มีเส้นทางรวมกันกว่า 22,000 กิโลเมตร และมีโครงการที่ขยายเส้นทางให้ครอบคลุมถึง 38,000 กิโลเมตรในอนาคต รถไฟความเร็วสูงของจีนเริ่มต้นให้บริการในปี พ.ศ. 2550 โดยมียอดการใช้บริการมากกว่า 1 พันล้านคนต่อปี เส้นทางของรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี้ยงไฮ้อยู่ที่ 1,318 กิโลเมตร เทียบได้กับเชียงใหม่-สุราษฏร์ธานี โดยให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 (เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2551) โดยเส้นทางดังกล่าวถือเป็นเส้นทางที่สร้างกำไรให้กั

กนง. ลดอัตราดอกเบี้ย ดีหรือไม่?

Photo Source: http://www.dailynews.co.th สรุปสั้นๆ>> "กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ เหลือ 2.25 ธนาคารพาณิชย์ตอบรับด้วยการลดดอกเบี้ยทั้งฝากและกู้"  วิเคราะห์ >>  1. ดอกเบี้ย สามารถพิจารณาได้เป็น 2 อย่าง คือเป็นทั้งผลตอบแทน (Rewards) ของการฝากเงิน และเป็นต้นทุน (Cost) หรื อราคาของการกู้ ดังนัน หากลดอัตราดอกเบี้ยลง ย่อมจูงใจให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเข้ามา "กู้เงิน" มากยิ่งขึ้น 2. สำหรับภาคธุรกิจ กู้เพื่อนำไปลงทุนหรือขยายกิจการ ซื้อเทคโนโลยี การตลาด ต่างๆ นานา การลงทุนของเอกชนนี้ หากเป็นการขยายร้านหรือลงทุนทางกายภาพ จะ"ส่งผลต่อเนื่อง"ไปยังตลาดสินค้าและบริการรวมถึงตลาดแรงงาน นับเป็นผลทางบวก 3. สำหรับภาคครัวเรือน การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเปิดโอกาสให้กู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น อย่างที่กล่าวว่าดอกเบี้ยคือราคาของการกู้ เมื่อราคาถูกลง ตามหลักอุปสงค์อุปทานพื้นฐาน ปริมาณเสนอซื้อหรือความต้องการซื้อหรือในที่นี่คือความต้องกู้ย่อมมากขึ้นเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตามต้องมีการระวังในเรื่องของฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะวิกฤติฟองสบ

พม่า..ผืนแผ่นดินทอง

ข้อมูลพื้นฐานประเทศพม่า ประเทศพม่า (Burma  หรือ  Myanmar)  มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า" ( Republic of the Union of Myanmar ) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคาบสมุทรอินโดจีน มีพรมแดนทางแผ่นดินติดต่อกับ 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย จีน บังคลาเทศ ลาว และไทย ทั้งนี้ พม่าเคยอยู่ภายใต้อาณานิยมของอังกฤษในช่วง พ.ศ. 2367-2485 และ 2488-2491 ด้วยพื้นที่ 261 , 789 ตารางไมล์ ( 678 , 034 ตารางกิโลเมตร ) แบ่งเป็นพื้นที่ทางบก 657,740 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ทางน้ำ 20,760 ตารางกิโลเมตร   อาณาเขต                  ทางฝั่งตะวันตกอยู่ติดกับบังกลาเทศ ทางเหนือติดกับอินเดียและจีน   ทางตะวันออกติดกับลาวและไทย ทางตอนใต้ของประเทศจะอยู่ติดกับอ่าวเบงกอลและทะเล  อันดามัน จังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับพม่า มี 10 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและระนอง   การปกครอง แบ่งเป็น 7 ภาคได้แก่ เขตอิระวดี เขตมาแกว เขตมัณฑะเลย์ เขตพะโค ( หงสาวดี) เขตสะกาย เขตตะนาวศรี และเขตย่างกุ้ง และ 7 รัฐ ได้แก่ รัฐยะไข่ รั