ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การส่งออกไทยเมื่อทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

Photo Source: CNN
วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) คว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 58  เหนือตัวเต็งอย่างฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ต่อจากนายบารัค โอบามา ผลการเลือกตั้งอาจจะถูกใจบ้าง ประหลาดใจบ้าง แต่สุดท้ายแล้ว ใจความสำคัญของประชาธิปไตยก็คือ การยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งได้จากคนส่วนใหญ่ (Majority vote) นั่นเอง
               
เราจะมาลองดูว่านโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ (International trade policies) ของทรัมป์ (อาจ) ส่งผลกระทบอะไรต่อเศรษฐกิจภาคต่างประเทศของไทยบ้าง (จำกัดการวิเคราะห์เพียง External sector เพราะในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น แรงงาน การลงทุนข้ามชาติ และบริษัทไทยที่ไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น)

 เกริ่นนำเรื่องความตกลงทางการค้าสักสองสามบรรทัด ปกติแล้ว หาก 2 ประเทศตกลงที่จะค้าขายกัน หมายถึงฉันจะส่งหมูไปขายในบ้านเธอ เธอก็ส่งเฟอร์นิเจอร์มาขายในบ้านฉัน ราคาที่นำเข้ามาก็จะ "บวก" อะไรหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือ "ภาษี" หรือศัพย์เฉพาะคือ "Tariff" ไอ้เจ้าภาษีนี้ มันไม่ใช่ว่าจะเก็บกับใครเท่าไหร่ก็ได้ มันจะต้องมีมาตรฐานเพื่อให้การค้าโลก (มีตั้งสองร้อยกว่าประเทศ) เป็นไปอย่างมีระบบ วิธีการก็คือ แต่ละประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO จะต้องแจ้ง (Notify) อัตราภาษีที่ตัวเองจะเรียกเก็บ อัตรานี้มีชื่อว่า MFN (Most-favoured nations) เนื้อหาสำคัญคือ คุณจะต้องเก็บภาษีจากสินค้าที่นำเข้า "ในอัตราเดียวกัน ไม่ว่าจะมาจากประเทศใดก็ตาม" เช่น ไก่จากจีนส่งมายังไทย ก็จะถูก "บวก" ภาษีเท่ากับไก่จากเวียดนามที่ส่งมายังไทย เช่นกัน ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง ประเด็นต่อมาก็คือ หากประเทศใดชอบพอกัน ก็สามารถทำ "ความตกลงพิเศษ" ขึ้นมาได้ ระบุอัตราภาษีที่เก็บระหว่างกันในอัตราพิเศษ พูดง่ายๆ คือ เป็นเพื่อนกัน อย่าเก็บฉันแพงได้ไหม! ซึ่ง TPP เองก็เป็นหนึ่งในความตกลงที่ว่ามาข้างต้น

สำหรับนโยบายด้านการค้าต่างประเทศของทรัมป์ที่ชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องของ Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือที่เรารู้จักกันในนามทีพีพี ซึ่งเป็นความตกลงทางการค้ากรอบพหุภาคี (เจรจากันหลายประเทศ) มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตลาดการค้าในสินค้า บริการ การลงทุน (การเปิดตลาด หมายถึง การยอมรับให้คู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาได้ ทำได้โดยการลดข้อจำกัดต่างๆ) มุ่งหลอมรวมกฎระเบียบที่มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมาตรฐานเดียวกัน (Standardization) เช่น นโยบายการแข่งขันของตลาด  (ห้าม dump ราคา ป้องกันตลาดผูกขาด) และทรัพย์สินทางปัญญา (ห้ามขายหนังเถื่อน) เป็นต้น TPP นี้พัฒนามาจาก P4 (The Pacific 4) โดยภาคีในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 12 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น ชิลี เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน สังเกตว่า ประเทศใน ASEAN หลายประเทศเข้าเป็นสมาชิก TPP ด้วยเช่นกัน ประเด็นสำคัญก็คือ ไทยไม่ได้เข้าเป็นภาคีของ TPP ตั้งแต่แรก ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2558 นั้น ประเทศสมาชิกได้บรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย (หากเกิดขึ้น) จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งในแง่ของ ขนาดเศรษฐกิจและขนาดตลาด (จำนวนประชากร) กล่าวคือ ประเทศภาคีมี GDP รวมกันคิดเป็นกว่า 40% ของผลผลิตทั้งหมดของโลก ความคืบหน้าของ TPP คือ แต่ละประเทศจะต้องลงนามและรับรองข้อตกลงเสียก่อนที่ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ (Ratification) ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่าอนาคตของ TPP ไม่สดใสมากนัก

ทำไม? ก็เพราะทรัมป์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยแต่แรก ซึ่งนั่นหมายความว่า อีกกว่า 11 ประเทศที่กำลังกลับไปแก้ไขกฎหมายภายในประเทศของตัวเองเพื่อให้สอดรับกับ TPP ที่ได้ลงนามไปเมื่อต้นปีนั้น ต้องหยุดขั้นตอนเอาไว้ก่อน เพราะหากทรัมป์ไม่เอา แน่นอนว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ สำหรับไทยเอง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ก็ได้ศึกษาข้อดี ข้อเสีย ของการเข้าร่วม TPP เมื่อปี พ.ศ. 2555 และจ้างสถาบันปัญญาภิวัฒน์ศึกษาในปี พ.ศ. 2558 (ยังไม่แล้วเสร็จ) ฉะนั้น ต่อจากนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องศึกษาแล้ว เพราะไม่เกิดขึ้นแล้ว หัวข้อที่น่าสนใจคือ จะทำอย่างไรให้สินค้าไทยส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้เหมือนเดิม ส่วนแบ่งตลาดไม่ลดลง หรือจะทำอย่างไรให้ AEC บรรลุได้มากกว่าที่เป็นอยู่ (ถามว่า พูด TPP มาโยง AEC ได้อย่างไร ก็เพราะแท้จริงแล้ว ตลาด ASEAN คือ คู่ค้าหลักด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนของไทย)

Photo Source: http://www.cbc.ca
            
ป็นที่รู้กันดีว่า TPP คือ WTO Plus ซึ่งที่มันบวกขึ้นมา ก็คือ หัวข้อ หรือประเด็นใหม่ๆ ที่ยังไม่มีในความตกลงปกติของ WTO หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ให้มากเป็นพิเศษ" หรือ "กำหนดมากเป็นพิเศษ" หาก FTA คือการหมั้น WTO+ ก็จะเป็นการแต่งงาน ยกตัวอย่างเช่น การลดภาษีที่มากกว่าอัตราภาษีที่ผูกพันไว้กับ WTO (บอก WTO ว่าจะเก็บภาษีในหมู 5% แต่จะเก็บพิเศษเพราะรักประเทศนี้มาก เหลือเพียง 1% ) การลดมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (เช่น มาตรการสุขอนามัย อุปสรรคการค้าทางเทคนิค เป็นต้น จากเดิมที่ต้องตรวจคุณภาพกัน 45 ขั้นตอน ใช้เวลา 8 เดือน ก็ย่นเหลือ 15 ขั้นตอน ใช้เวลา 20 วัน) หรืออาจมีเรื่องของการเปิดเสรีการลงทุน (สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติมากขึ้น) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือต่างๆ ที่ไม่อยู่ในเนื้อหาของ WTO ซึ่งเคยมีความกังวลว่า หากไทยไม่เข้า อาจทำให้เราหลุดกระแสหรือวงโคจรของการพัฒนาของโลกหรือไม่

เมื่อไม่มี TPP อีกต่อไปแล้ว เราก็เข้าข้างตัวเองได้สักประเดี๋ยวว่า ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอาเซียนในตลาดสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่ (เพราะสินค้าเหล่านั้นจะเข้าสหรัฐอเมริกาในราคาที่ถูกกว่า เพราะปลอดกำแพงภาษีและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ) แต่ชวนคิดต่อไปก็คือ เราจะปล่อยให้ผู้ผลิตขาดศักยภาพ แข่งขันไม่ได้เมื่อเทียบกับชาติอื่น หรือมีต้นทุนที่สูงมาก (Comparative Disadvantage) ไปจนถึงเมื่อไหร่ เมื่อไหร่ที่ไทยจะมีสินค้าอย่าง Iphone แล้วขายไปทั่วโลก หรือว่าคิดจะขายข้าวตลอดไป แทรกแซงตลาดจนไม่รู้ว่าราคาที่แท้จริงควรจะซื้อ-ขายกันเท่าไหร่ ถามผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่าข้อมูลที่รวบรวมผิด แล้วแบบนี้จะไปแข่งกับคนอื่นอย่างไร หากเราไม่ได้เปรียบในการผลิต ต้องรู้สาเหตุให้แน่ชัด หากเป็นเพราะต้นทุนสูงกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะต้องหันไปผลิตอย่างอื่นแทน ไม่ใช่ดันทุรังจะทำทั้งที่ No hope แต่ไม่ใช่ว่าผู้ที่แข่งขันไม่ได้จะเดินอยู่ท่ามกลางหิมะอันหนาวเหน็บแต่เพียงผู้เดียว รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กำลังช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ (?) ในปัจจุบัน มีสำนักงานเศรษฐกิจการการเกษตรและกรมการค้าต่างประเทศที่ได้จัดตั้ง กองทุน FTA เพื่อเยียวยาผลกระทบจากผู้ได้รับผลกระทบทางลบจากการที่ไทยไปทำข้อตกลงการค้าต่างๆ กับประเทศอื่น แต่ปัญหาคือเป็นกองทุนยากแค้น หรือพูดง่ายๆ ว่ามีงบไม่มาก แถมผู้ขอเงินชดเชยต้องมีความรู้ความสามารถระดับหนึ่ง (ต้องทำโครงการ มีเอกสารรายละเอียดมากมายต้องกรอก) พูดอีกแง่ก็คือ เกษตรกรธรรมดาๆ มีโอกาสเข้าถึงช่องทางนี้น้อย (แต่ก็ไม่มีคำตอบว่า ทำไมกรมไม่ serve ให้เป็นระบบ นอกจากให้เงินแล้ว ต้องสอนเขาด้วยว่าจะได้เงินมาอย่างไร) นอกจากนั้น ต้องมีทั้งการฝึกอบรมให้ทำงานให้เก่งขึ้นอย่างจริงๆ จังๆ ต้องกล้าลงทุน

อีกหนึ่งเรื่องที่เราไม่ต้องกังวลกันอีกต่อไปก็คือ การสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในตลาดต่างประเทศ หาก TPP เกิดขึ้น แล้วเราไม่ได้เข้าร่วม ความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียนี้เกิดจากการที่ประเทศอื่นได้ประตูบานใหญ่กว่าเรา เข้าไปในตลาดที่เป็นคู่ค้าหลักของเรา ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ส่วนแบ่งของเราในตลาดประเทศสมาชิก TPP มีโอกาสที่จะลดลง เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น คือคู่ค้าหลักด้านการส่งออกสินค้าของไทย หากไทยไม่เข้าร่วม TPP แน่นอนว่า สินค้าไทยก็จะต้องเสียภาษีใน WTO rate ซึ่งพอเข้าไปในตลาดสหรัฐอเมริกา จะทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ผลไม้ไทยส่งไปญี่ปุ่นเสียภาษี 15% แต่เวียดนามส่งไปไม่เสียภาษี ราคาผลไม้ไทยในตลาดญี่ปุ่นจะสูงกว่าไทย และทำให้ดีมานด์สินค้าไทยลดลง ดุลการค้าไทยก็ลดลงตามลำดับ ส่งผลสะท้อนกลับมายัง GDP นอกจากนั้น วงการสาธารณสุขบ้านเราก็คงคลายกังวล ก่อนหน้านี้เรากังวลเรื่องยาจะแพงขึ้น รัฐบาลจะมีภาระมากขึ้นหากเข้า TPP เพราะเรื่องสิทธิบัตร แต่ขอฝากให้ชวนคิดว่า ความยั่งยืนในวงการสาธารณสุขจะมีได้อย่างไรหากกลัวการวิจัย คิดใหม่ ทำใหม่

ดังนั้น ในขั้นนี้ คนที่ต้าน TPP เลยสบายใจไปหนึ่งเปราะ ว่าอย่างน้อยก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ใน Comfort Zone ได้ต่อไปอีกสัก 2 - 3 ปี จนกว่าโลกจะมี Trade Pact ใหม่ๆ ที่มันท้าทายความสามารถของเศรษฐกิจทั้งระบบ

นอกเหนือจาก TPP แล้ว ทรัมป์เองมีนโยบายที่จะทบทวน (บางที่ใช้คำว่า Withdraw เลยด้วยซ้ำ) ข้อตกลงทางการค้ากับแคนาดาและเม็กซิโก ที่รู้จักกันดีในชื่อของ NAFTA (North American Free Trade Agreement) ที่ทำไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 โดยถึงกับบอกว่า NAFTA เป็น "Worst Trade Deal Ever" หรือข้อตกลงทางการค้าที่แย่ที่สุดที่เคยมีมา ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งแล้วยกเลิก NAFTA ผู้ผลิตสัญชาติเม็กซิกันที่นำเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรจากสหรัฐอเมริกาจะต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น แน่นอนว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของเม็กซิโกที่พึ่งพาสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม มีหลายบริษัทของเม็กซิโกเช่นกันที่ไปเปิดในสหรัฐอเมริกาและจ้างคนงานสัญชาติอเมริกัน เช่น บริษัท Softtek เป็นต้น ในแง่ดุลการค้า พบว่า กว่า 80% ของการส่งออกของเม็กซิโกส่งมาที่สหรัฐอเมริกา (ประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทั้งหมด 3.80 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่กว่า 50% ของการนำเข้าของเม็กซิโกเป็นสินค้าจากสหรัฐอเมริกา (ประมาณ 1.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทั้งหมด 3.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ดังนั้น เม็กซิโกจึงพึ่งพิงสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก ซึ่งภาพดังกล่าวไม่ต่างจากแคนาดาเช่นกัน ดังนั้น หากทรัมป์จะ "ปิด" เศรษฐกิจ (Less open) ของตนเองจากข้อตกลง NAFTA ความเสียหายทางเศรษฐกิจน่าจะเกิดกับเม็กซิโกและแคนาดามากกว่าหรือรุนแรงกว่า ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบต่อการส่งออก การนำเข้าของสหรัฐอเมริกาต้องอย่าลืมความจริงบางประการที่ว่า 

1) เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาขึ้นอยู่กับการบริโภคภายในประเทศ (Domestic Consumption) ไม่ใช่ภาคต่างประเทศ (External sector) หรือการส่งออก การนำเข้า นอกจากนั้น ยังเน้นภาคบริการยังมีสัดส่วนกว่า 78% ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งประเทศ ดังนั้น การขึ้นภาษีจากจีนหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง (หากทำได้) ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามากนัก เพราะการค้าไม่ใช่หัวใจหลัก

2) อย่าลืมความจริงอีกประการที่ว่า การตั้งกำแพงภาษีจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งทดแทนรายได้ที่คาดว่าจะเสียไปจากการลดภาษีชนชั้นกลาง ทั้งนี้ อย่าลืมว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบันเกิดขึ้นเพื่อชดเชยรายได้จากภาษีนำเข้าที่เก็บไม่ได้ เหตุเพราะโลกทำการค้ากันมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 100 - 150 ปีที่ผ่านมา 


Photo Source: https://ustr.gov
ในทางกลับกัน เศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการส่งออกกว่า 75% ของ GDP ทั้งประเทศ (เรียกได้ว่า หากคนในโลกมีความต้องการในสินค้าลดลงเพราะเศรษฐกิจไม่ดี คนตกงานเยอะ ไม่ค่อยอยากจะจับจ่ายใช้สอย เราในฐานะผู้ส่งสินค้าไปขายก็เหี่ยวเฉาไปด้วย เพราะขายไม่ได้ ซึ่งน่ากลัวเพราะมันคือ ภาคเศรษฐกิจจริง (Real sector) ไม่ใช่เห็นเพียงตัวเลขในตลาดทุน)  ในแง่ของคู่ค้า (Trading partner) สหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าหลักของไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะสินค้าประเภทฮาร์ดแวร์ ยาง อัญมณี ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงข้าว ดังนั้น หากเศรษฐกิจอเมริกาเติบโตได้ดี ไทยก็ดีไปด้วย (คอนเซปคล้ายๆ เห็บสยาม) อาศัยอานิสงค์การเติบโตในดีมานด์ของคู่ค้า แต่อย่าลืมว่า บางครั้ง ดีมานด์ในสินค้าบางประเภทก็ไม่อาจโตขึ้นได้มากกว่านี้ หรืออาจจะขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร เช่น ข้าว เป็นต้น หากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรต่ำ เราคงไม่สามารถคาดหวังได้ว่า ไทยจะส่งออกข้าวมากขึ้นในอัตราเดียวกันกับที่เศรษฐกิจโลกเติบโต หรือหากโลกกำลังเข้าสู่ช่วง "โลกผู้สูงอายุ" สินค้าประเภทคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นดีวีดี ที่เราบอกว่าเราถนัดมาก ก็คงต้องปรับตัว เพราะนั่นมันเป็นสินค้าของวัยรุ่น/วัยกลางคน 

ในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาย่ำแย่ ไทยก็จะได้รับผลกระทบทางลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างในปี ค.ศ. 2008 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แม้ต้นตอจะเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ปัญหาได้ขยายตัวลุกลามไปยังประเทศอื่นทั่วโลก ไม่ใช่เพราะอสังหาริมทรัพย์ แต่เกิดในตลาดอื่นที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม

สำหรับคำตอบว่า ไทยจะส่งออกดีขึ้นหรือแย่ลง ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ ใครที่ออกมาฟันธง ก็ขอให้ทราบเอาไว้ว่ามั่วแน่นอน เพราะแม้ทรัมป์จะออกนโยบาย แต่นั่นเป็นนโยบายเพื่อดึงคะแนน เวลาที่ทำนโยบายจริงๆ ทรัมป์เองจะพบว่ามันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ง่ายขนาดนั้น มันไม่เหมือนการเป็น CEO และบอกว่าพรุ่งนี้ฉันจะทำอย่างนู้นอย่างนี้ นโยบายรัฐจำเป็นที่จะต้องมีการผ่านสภาล่าง สภาสูง หลายครั้ง ให้ดูกรณี TPP ของโอบามาที่พยายามมาหลายปีแต่ก็ยังไม่สามารถผ่านการรับรองได้เสียที

หากจะให้ชี้แนวทาง ขอมองเป็น 2 สถานการณ์  กรณีแรกคือ การส่งออกไทยจะดีขึ้น เหตุที่คิดว่าจะดีขึ้นก็เพราะสหรัฐอเมริกาอาจจะหันมานำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้นแทนที่จะเป็นจีน จากสถิติ สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากจีนมากที่สุด (ประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์จาก 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองลงมาเป็นเม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งไทยคงไม่ไปแข่งในสินค้าจากทั้งสองประเทศนั้น ทั้งนี้ สหรัฐนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 16 สำหรับอาเซียนด้วยกัน เราก็จะรองจากเวียดนามและมาเลเซีย ซึ่งทั้งคู่อยู่ในกรอบ TPP อยู่แล้ว ฉะนั้น หากทรัมป์ต้องการลดการพึ่งพาจากจีน และไม่สนใจ TPP โอกาสที่ไทยสามารถมีส่วนแบ่งตลาดสหรัฐอเมริกาก็มากขึ้น เพราะสินค้าไทยกับจีนที่เข้าไปสหรัฐอเมริกามีความคล้ายคลงกัน นั่นคือ เป็นสินค้ากลุ่มอาหารและอุตสาหกรรมเบา หรือเรียกอีกชื่อคือ labor-intensive products แต่ถึงแม้ทรัมป์จะไม่ชอบจีน แต่ทรัมป์ก็ไม่สามารถเลือกที่รัก มักที่ชัง หรือเจาะจงเลือกขึ้นภาษีเฉพาะจีนได้เพียงอย่างเดียว เพราะจะผิดจากกฎของ WTO ว่าการ "บวก" ภาษีนำเข้านั้นจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ กล่าวคือ จะต้องเก็บภาษีในอัตราเดียวกันหมดไม่ว่าจะมาจากชาติใด หากเก็บภาษีข้าว 5% ก็ต้องเก็บ 5% ด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะจากจีนหรือจากไทย ดังนั้น ไม่ใช่ว่าทรัมป์คิดจะขึ้น ก็ขึ้นได้เลย แต่ขึ้นชื่อว่าทรัมป์ อะไรก็อาจเกิดขึ้นได้ ทรัมป์จะไล่เจรจาและเซ็น FTA กับประเทศคู่ค้าหลัก 20 รายแรก เว้นจีนเอาไว้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จีนก็จะเป็นประเทศที่ได้รับความเดือดร้อน ยอดส่งออกจะต้องลด มีการปลดพนักงานแน่นอน และเมื่อเศรษฐกิจจีนค่อยๆ พัง ไทยก็โดนไปด้วยเพราะไทยพึ่งจีนมากในแง่ของการส่งออก แต่กว่าจะถึงจุดนั้น ตลาดทุนน่าจะ crash ล่วงหน้าไปแล้ว ทั้งนี้ สถานการณ์ที่ 2 สาเหตุที่คิดว่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกามีโอกาสแย่ลง ก็เพราะที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าทรัมป์พูดถึงเอเชียค่อนข้างน้อย พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นทวีปนอกสายตา (มีแค่จีนที่อยากจะเอาชนะ) ทรัมป์อาจเหมารวมและมองแต่ละชาติในเอเชียเป็นชาติเดียว (Single unit) ระงับการเจรจาการค้ากับภูมิภาคนี้ หรืออาจกำหนดลักษณะสินค้าแปลกๆ หรือให้มีคุณภาพสูงๆ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff barriers) ซึ่งท้ายที่สุดก็เป็นการจำกัดจำนวนการค้าระหว่างกัน (มองในแง่ความเป็นไปได้ การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสูงๆ ก็ทำได้ยาก เพราะมีกฎ WTO ขวาง แต่อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี พวกระเบียบ เกณฑ์ กฎต่างๆ แน่นอนว่ามีอิสระเสรี จะกำหนดอะไรก็ได้ ให้คิดถึงกรณีอินโดนีเซียกำหนดให้สายยางเชื่อมต่อเตาแก้สต้องมีสีส้มเท่านั้น ถามว่าวิทยาศาสตร์ตอบได้ไหมว่าทำไมต้องสีส้ม สีเขียวได้หรือเปล่า)

ในแง่ของผลกระทบต่อตลาดหุ้น นอกจากความผันผวนที่เกิดจากนักลงทุนแล้ว ขอมองมุมอื่นๆ บ้าง โดยแยกเป็น 2 สถานการณ์อีกเช่นกัน หากนักลงทุนชาวอเมริกันมีความกังวลต่อการที่ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และแห่มีความกังวลเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อจากนี้ นักลงทุนอาจย้ายเม็ดเงินลงทุนมายังภูมิภาคเอเชียที่ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นและสถานการณ์ในภาพรวมสงบกว่า  เมื่อเป็นเช่นนั้น เงินดอลลาร์ก็จะไหลเข้ามายังภูมิภาคจำนวนมาก นักลงทุนต้องนำเงินดอลลาร์มาแลกเงินบาท เงินบาทหายากมากขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่าจะแพงขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นไปโดยปริยาย เงินทุนสำรองในรูปของเงินตราต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น มีผลทางอ้อมทำให้สินค้าไทยแพงขึ้นในสายตาของผู้บริโภคต่างชาติ และท้ายที่สุด ทำให้การส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบทางลบไปด้วย หรืออีกกรณีหนึ่งที่เป็นไปได้ คือนักลงทุนที่ลงทุนอยู่ในภูมิภาคเอเชียเกิดความกังวล เทขายหุ้น และไปเก็บสินทรัพย์ในรูปอื่น เช่น ทองคำ และเงินสด เป็นต้น นักลงทุนแลกบาทกลับไปเป็นดอลลาร์ เงินบาทหาง่าย มีเกลื่อนระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ และกลายเป็นผลดีต่อการส่งออก แต่ต้อง note เอาไว้ว่า ผลดีจากบาทอ่อนต่อการส่งออกค่อนข้างใช้เวลา เหตุเพราะนักธุรกิจมักซื้อขายล่วงหน้า ดังนั้น อาจใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ผลกระทบต่างๆ จึงจะเริ่มเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าเกิดวันต่อวัน

โดยสรุป "เรา" ในฐานะพลเมืองโลก ต้องติดตามเกมการเมืองของสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่เพราะสหรัฐอเมริกาคือประเทศมหาอำนาจ แต่เพราะเศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะพึ่งพาอาศัยกันมากกว่าสมัยก่อน ไม่เพียงตลาดสินค้าและบริการ หากรวมถึงตลาดเงินที่มีพลวัฒน์สูงอีกด้วย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รีวิวรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี้ยงไฮ้ ชั้น First Class: บทเรียนจากจีนสู่ไทย

วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผมมีโอกาสได้ไปทำวิจัยเรื่องศักยภาพสินค้าไก่ระหว่างไทย-จีน ณ ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 9 - 14 พฤษภาคม 2560 และได้มีโอกาสนั่งรถไฟความเร็วสูง (High-speed Train/Bullet Train) เส้นทางปักกิ่ง (Beijing) ไปเซี้ยงไฮ้ (Shanghai) จึงมารีวิวและเขียนข้อเสนอแนะเพิ่มเติมครับ รถไฟความเร็วสูงของจีน (High-speed rail; HSR) บริหารโดยรัฐวิสาหกิจที่มีชื่อว่า China Railway Corporation (คงคล้ายๆ กับรฟท.ของไทย) ได้ชื่อว่ามีโครงข่ายที่ยาวที่สุดในโลก (เพราะอาณาเขตพื้นที่ของจีนนั้นยิ่งใหญ่มหาศาลเหลือเกิน) มีเส้นทางรวมกันกว่า 22,000 กิโลเมตร และมีโครงการที่ขยายเส้นทางให้ครอบคลุมถึง 38,000 กิโลเมตรในอนาคต รถไฟความเร็วสูงของจีนเริ่มต้นให้บริการในปี พ.ศ. 2550 โดยมียอดการใช้บริการมากกว่า 1 พันล้านคนต่อปี เส้นทางของรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี้ยงไฮ้อยู่ที่ 1,318 กิโลเมตร เทียบได้กับเชียงใหม่-สุราษฏร์ธานี โดยให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 (เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2551) โดยเส้นทางดังกล่าวถือเป็นเส้นทางที่สร้างกำไรให้กั

กนง. ลดอัตราดอกเบี้ย ดีหรือไม่?

Photo Source: http://www.dailynews.co.th สรุปสั้นๆ>> "กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ เหลือ 2.25 ธนาคารพาณิชย์ตอบรับด้วยการลดดอกเบี้ยทั้งฝากและกู้"  วิเคราะห์ >>  1. ดอกเบี้ย สามารถพิจารณาได้เป็น 2 อย่าง คือเป็นทั้งผลตอบแทน (Rewards) ของการฝากเงิน และเป็นต้นทุน (Cost) หรื อราคาของการกู้ ดังนัน หากลดอัตราดอกเบี้ยลง ย่อมจูงใจให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเข้ามา "กู้เงิน" มากยิ่งขึ้น 2. สำหรับภาคธุรกิจ กู้เพื่อนำไปลงทุนหรือขยายกิจการ ซื้อเทคโนโลยี การตลาด ต่างๆ นานา การลงทุนของเอกชนนี้ หากเป็นการขยายร้านหรือลงทุนทางกายภาพ จะ"ส่งผลต่อเนื่อง"ไปยังตลาดสินค้าและบริการรวมถึงตลาดแรงงาน นับเป็นผลทางบวก 3. สำหรับภาคครัวเรือน การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเปิดโอกาสให้กู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น อย่างที่กล่าวว่าดอกเบี้ยคือราคาของการกู้ เมื่อราคาถูกลง ตามหลักอุปสงค์อุปทานพื้นฐาน ปริมาณเสนอซื้อหรือความต้องการซื้อหรือในที่นี่คือความต้องกู้ย่อมมากขึ้นเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตามต้องมีการระวังในเรื่องของฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะวิกฤติฟองสบ

พม่า..ผืนแผ่นดินทอง

ข้อมูลพื้นฐานประเทศพม่า ประเทศพม่า (Burma  หรือ  Myanmar)  มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า" ( Republic of the Union of Myanmar ) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคาบสมุทรอินโดจีน มีพรมแดนทางแผ่นดินติดต่อกับ 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย จีน บังคลาเทศ ลาว และไทย ทั้งนี้ พม่าเคยอยู่ภายใต้อาณานิยมของอังกฤษในช่วง พ.ศ. 2367-2485 และ 2488-2491 ด้วยพื้นที่ 261 , 789 ตารางไมล์ ( 678 , 034 ตารางกิโลเมตร ) แบ่งเป็นพื้นที่ทางบก 657,740 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ทางน้ำ 20,760 ตารางกิโลเมตร   อาณาเขต                  ทางฝั่งตะวันตกอยู่ติดกับบังกลาเทศ ทางเหนือติดกับอินเดียและจีน   ทางตะวันออกติดกับลาวและไทย ทางตอนใต้ของประเทศจะอยู่ติดกับอ่าวเบงกอลและทะเล  อันดามัน จังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับพม่า มี 10 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและระนอง   การปกครอง แบ่งเป็น 7 ภาคได้แก่ เขตอิระวดี เขตมาแกว เขตมัณฑะเลย์ เขตพะโค ( หงสาวดี) เขตสะกาย เขตตะนาวศรี และเขตย่างกุ้ง และ 7 รัฐ ได้แก่ รัฐยะไข่ รั