ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การปรับใช้แนวความคิด Offshore Assembly Provisions (OAPs) หรือ ภาษีการประกอบผลิตภัณฑ์นอกราชอาณาจักร สำหรับภาคการค้าระหว่างประเทศในประเทศไทย ในบริบทของความพึงพอใจของผู้บริโภคภายในประเทศและรายได้จากภาษีนำเข้าของรัฐบาลไทย

บทความโดย วรรณพงษ์   ดุรงคเวโรจน์

                การเก็บภาษีนำเข้า (Tariff) โดยส่วนมากแล้วนั้นเป็นการตอกย้ำนโยบายการปกป้องประเทศ (Protectionist Policy) แต่หากในส่วนของการปกป้องนั้นกลายเป็นผู้ผลิตภายในประเทศ ไม่ใช่ผู้บริโภคแต่อย่างใด ในแต่ละประเทศนั้นภาษีนำเข้ามีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งนี้ในตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำหนดภาษีนำเข้าอย่างหลากหลาย แต่ละประเทศที่ทำการค้ากับสหรัฐอเมริกาต้องเจอกับอัตราภาษีนำเข้าที่แตกต่างกัน ทั้งนี้มีรูปแบบหนึ่งของอัตราภาษีนำเข้าของประเทศสหรัฐอเมริกาที่น่าสนใจ เรียกว่า Offshore Assembly Provisions (OAPs) โดยชื่อในภาษาไทยนั้น ยังไม่มีผู้ตั้งไว้ แต่ผู้เขียนจะขอเรียกเป็น ภาษีการประกอบผลิตภัณฑ์นอกราชอาณาจักร  โดยปกตินั้น ภาษีนำเข้ามักเป็นเปอร์เซ็นต์จากมูลค่าของสินค้า(Ad volarem Tariffs) ซึ่ง OAPs นั้นเป็นการลดอัตราภาษีจากมูลค่าที่เกิดขึ้นในประเทศให้เหลือ 0% โดยส่วนที่เหลือที่ผลิตภายนอกประเทศนั้นจะถูกเก็บภาษีแทน แต่การเก็บภาษีในกรณีนี้จะต้องเป็นสินค้าที่ถูกผลิตในประเทศที่ทำ OAP และนำไปประกอบในประเทศตน ซึ่งจะหมายถึงการผลิตสินค้าช่วงกลาง (Intermediate Goods ) หรือเป็นการที่บริษัทต่างชาติ (Multinational Enterprise) เลือกทำ Vertical Diversification หมายความว่า บริษัทจากประเทศ A เข้ามาเปิดโรงงานในประเทศ B เพื่อผลิตสินค้าช่วงกลาง แล้วนำไปประกอบเป็นสินค้าสุดท้าย (Final Goods) ในประเทศ A โดย OAPs เป็นแนวคิดที่ว่า ภาษีนำเข้าจะถูกเก็บจากส่วนที่เป็น “มูลค่าของต่างชาติ” เท่านั้น จะละเว้นมูลค่าของสินค้าที่ “เกิดจากคนในประเทศ” ซึ่งก็คือประเทศที่กำหนด OAPs นั่นเอง
ในส่วนของเนื้อหาขอแยกอธิบายเป็นส่วนของการบรรยายทั่วไป กับ อธิบายตามหลักเศรษฐศาสตร์

1  การอธิบายด้วยหลักบรรยายทั่วไป

    ยกตัวอย่างเช่น บริษัท CORNELL เข้ามาผลิตยางรถยนต์ในประเทศไทย แล้วนำไปผลิตรถยนต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วส่งรถยนต์กลับมาขายในประเทศ ตามปกติที่เราจะกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์จากประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งคัน เช่น ร้อยละ 70 จากมูลค่าสินค้านำเข้า หรือร้อยละ 70 ของมูลค่ารถยนต์ หากรถยนต์จากประเทศสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 500,000 บาท ประเทศไทยจะเก็บอัตราภาษีนำเข้า 0.7 × 500,000 = 350,000 รวมราคารถยนต์ที่ผู้บริโภคในประเทศไทยจะต้องซื้อคือ 850,000 บาท ทั้งนี้จากแนวคิดภาษีการประกอบผลิตภัณฑ์นอกราชอาณาจักร (OAPs) ประเทศไทยจะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากประเทศสหรัฐอเมริกา “เฉพาะ”มูลค่าที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ หรือเฉพาะที่เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ไม่นับรวมมูลค่าที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พูดในนัยหนึ่งคือว่า หากมูลค่ารวมของสินค้าคือ 100 หน่วย เกิดจากประเทศส่งออก 60 หน่วย เกิดจากประเทศนำเข้า 40 หน่วย ภาษีนำเข้าจะเก็บในส่วนของ 60 หน่วยเท่านั้น ในกรณีรถยนต์ดังตัวอย่างข้างต้น หากยางรถยนต์มีมูลค่า 50,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 70 จะถูกเก็บจากฐานเหลือ (500,000 – 50,000) × 0.7 = 315,000 รวมราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเป็น 815,000 เพราะฉะนั้นจะมีราคาน้อยลงกว่าเดิมเท่านั้นส่วนของมูลค่าที่หักลบไปอันเนื่องมาจากการผลิตในประเทศนำเข้า คือ 35,000 บาท หรือ 50,000 ×0.7 นั่นเอง  หรือคิดเป็น ร้อยละ 7 ของราคาเดิม
ใครคือผู้ได้ประโยชน์?
แน่นอนว่าผู้ผลิตภายในประเทศยังคงได้รับประโยชน์จากการเก็บภาษีนำเข้าเท่าเดิม เพราะสามารถขายสินค้าและบริการได้มากขึ้นจากการที่ราคาสินค้านำเข้าสูง ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าภายในประเทศ ผู้ผลิตได้ประโยชน์จากการที่สามารถขายสินค้าและบริการในราคาที่สูงขึ้นได้ ทั้งนี้การที่ทำภาษีการประกอบผลิตภัณฑ์นอกราชอาณาจักร (OAPs) จะทำให้ราคาสินค้าที่เข้ามามีราคาถูกลง ผู้บริโภคย่อมได้รับประโยชน์มากขึ้นหรือเสียน้อยกว่าเดิมเพราะผู้บริโภคย่อมเสียประโยชน์อยู่แล้วจากการเก็บภาษีนำเข้า แต่การเก็บในรูปแบบ OAPs นั้นจะเป็นการลดพื้นที่ความเสียหายของผู้บริโภค ซึ่งดีกว่าการเก็บภาษีในรูปแบบเดิมอย่างแน่นอน
                ทั้งนี้ รูปแบบภาษีการประกอบผลิตภัณฑ์นอกราชอาณาจักรจะให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้น เมื่อมูลค่าของสินค้าที่นำเข้ามีที่มาจากสินค้าช่วงกลางที่ผลิตในประเทศไทยแล้วนำไปประกอบในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น หากรถยนต์ราคา 500,000 บาท และมีมูลค่าที่ได้จากสินค้าช่วงกลางในประเทศไทย 400,000 บาท ภาษีนำเข้าจะถูกเก็บในส่วนของมูลค่านอกประเทศเป็นจำนวน 100,000 บาท หากเก็บอัตราภาษี ร้อยละ 70 จะสามารถลดภาระภาษีที่จะตกแก่ผู้บริโภคดังนี้
ก่อนการเก็บภาษีตามรูปแบบภาษีการประกอบผลิตภัณฑ์นอกราชอาณาจักร รถยนต์มีมูลค่า 500,000 บาท ถูกเก็บภาษี ร้อยละ 70 ดังนั้น ราคาของรถยนต์ที่เข้ามาขายในประเทศไทยจะเป็น 500,000 × 1.7 = 850,000  บาท
หลังการเก็บภาษีตามรูปแบบภาษีการประกอบผลิตภัณฑ์นอกราชอาณาจักร รถยนต์มูลค่าจากนอกประเทศเพียง 100,000 บาท (เพราะเป็นมูลค่าที่ผลิตในไทย 400,000 บาท) ถูกเก็บภาษีร้อยละ 70 ดังนั้น ราคาของรถยนต์ที่เข้ามาขายในประเทศจะเป็น 500,000 + (100,000 × 0.7) = 570,000 บาท ซึ่งสามารถลดจำนวนเงินของผู้บริโภคได้ถึง 280,000 บาท
                ผู้บริโภคในประเทศไทยย่อมมีความพึงพอใจมากขึ้นจากการบริโภคสินค้าและบริการภายใต้รูปแบบภาษีการประกอบผลิตภัณฑ์นอกราชอาณาจักรอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ในแง่ของรายได้รัฐบาลก็จะลดน้อยลงไปด้วยเท่ากับจำนวนภาระของผู้บริโภคที่ถูกผลักออกไป อย่างไรก็ตาม รายได้จากภาษีนั้นนับว่าเป็นรายได้หลักของรัฐบาล แต่การเก็บภาษีนำเข้าเพื่อนำมาเป็นรายได้นั้นนับว่าไม่นิยมและเป็นการแขวนสวัสดิการของประเทศไว้บนเส้นด้าย เพราะหากผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้ว รัฐก็จะไม่ได้รายได้ด้วย ภาษีที่รัฐควรให้ความสำคัญคือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สามารถเก็บได้จากเงินเดือนของประชาชนทั่วไป มีความแน่นอนกว่า มีความเป็นสากลกว่า และมีประสิทธิภาพมากว่าตรงตามลักษณะรูปแบบภาษีที่ดีอันนำมาซึ่งหลักประกันสวัสดิการของประเทศ โดยในปัจจุบันคนไทยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียง 2 ล้านกว่าคน เงินในส่วนนี้มาจากประชาชนคิดเป็นร้อยละ 3 จากประชากรทั้งนั้น เงินจากประชาชนร้อยละ 3 ต้องนำไปเลี้ยงประชาชน 67 ล้านคน คำถามคือ จะพอไหม? แล้วถ้าไม่พอ รัฐจะทำอย่างไร? กู้ต่างประเทศแล้วให้คนรุ่นถัดมาแบกรับภาษีการใช้คืนในรูปของดอกเบี้ยอย่างนั้นหรือ? ความสมดุลของรายได้และรายจ่ายรัฐบาลถือว่าเป็นส่วนที่รัฐควรให้ความสำคัญมากที่สุดเพื่อป้องกันปัญหาทางเศรษฐกิจที่จะต้องเผชิญในอนาคตสืบเนื่องจากโลกทุนนิยมที่ไม่แน่ไม่นอนและผันแปรอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

2.              การอธิบายด้วยหลักเศรษฐศาสตร์


              สมมุติฐาน
1.             สมมติว่าโลกประกอบด้วย 2 ประเทศ ประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก (Small Country) หมายความว่า ประเทศไทยไม่มีอำนาจในการขึ้นหรือลดราคาสินค้าในตลาดโลกได้ หากราคาในตลาดโลกเท่ากับ x บาทต่อหน่วย ผู้บริโภคในประเทศย่อมต้องยอมรับราคา x บาท ต่อหน่วย ดังนั้น จึงเห็นเส้น Supply ของสินค้าเป็นเส้น Horizontal แสดงระดับราคาคงที่ ณ หน่วยบริโภคใดใด
2.     ประเทศไทย เป็นประเทศแรงงานสมบูรณ์ ตามทฤษฏีเฮคเชอร์โอลิน (Heckscher Ohlin Theory) ประเทศไทยควรส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น และนำเข้าสินค้าทุนเข้มข้น ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศทุนสมบูรณ์ ตามทฤษฏีเฮคเชอร์โอลิน(Heckscher Ohlin Theory) ประเทศสหรัฐอเมริกาควรส่งออกสินค้าที่ใช้ทุนเข้มข้นและนำเข้าสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้ม
3.             พิจารณาสินค้าทุนเข้มข้นคือรถยนต์ ประเทศไทยนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา
สถานการณ์
       1.   กรณีเกิดการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ปลอดภาษีนำเข้า ประเทศไทยนำเข้ารถยนต์จากประเทศสหรัฐอเมริกา จุดดุลยภาพของตลาดอยู่ที่ จุด g โดยผู้บริโภค บริโภครถยนต์ 18 คัน ผู้ผลิต ผลิตภายในประเทศ 6 คัน ดังนั้นนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา12 คัน ส่วนเกินผู้บริโภค (Consumer Surplus) เท่ากับ พื้นที่สามเหลี่ยม agm และส่วนเกินผู้ผลิต (Producer Surplus) เท่ากับพื้นที่สามเหลี่ยม mfh 2.         หากประเทศไทยเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 70 ของมูลค่าสินค้าเพื่อปกป้องผู้ผลิต(Protectionist Policy) ดังนั้น ราคารถยนต์รวมภาษีนำเข้าคือ 850,000 บาท และเส้น Supply กลายเป็นเส้นสีเทา (Traditional Tariff) จุดดุลยภาพอยู่ที่จุด b ณ ระดับราคาดังกล่าว จาก Law of Demand ผู้บริโภคลดการบริโภครถยนต์ลงเหลือ 14 คัน ผู้ผลิต เมื่อเห็นระดับราคาสูงขึ้น ความต้องการขายจึงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10 คัน และนำเข้าลดลงเหลือเพียง 4 คัน อย่างไรก็ตาม จากการเก็บภาษีนำเข้า ทำให้ส่วนเกินผู้บริโภคลดลงเหลือพื้นที่สามเหลี่ยม abc และส่วนเกินผู้ผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่พื้นที่สามเหลี่ยม hvc การเก็บภาษีดังกล่าว ทำให้เกิดเงื่อนไขการพิจารณาดังนี้ คือ ส่วนของส่วนเกินผู้บริโภคที่เสียไป หรือพื้นที่ห้าเหลี่ยม cbgm โดยพื้นที่ cvfm ถูกย้ายไปให้กับผู้ผลิต พื้นที่ vbyk เป็นส่วนของรายได้ของรัฐบาลจากการเก็บภาษี ส่วนที่เหลือคือ Deadweight Loss อันเกิดมาจากการบริโภคและการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ ได้แก่พื้นที่สามเหลี่ยม vkf เกิดจากการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะผู้ผลิตในประเทศแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าผู้ผลิตต่างประเทศ หมายความว่าผลิตในประเทศแทนที่จะนำเข้า สังเกตจากเส้น Domestic Supply หรือ S(d) ที่สูงกว่า เส้น Horizontal Supply ณ ปริมาณ 6 – 10 และพื้นที่สามเหลี่ยม bgy เกิดจากการบริโภคที่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้บริโภคให้คุณค่าของสินค้าในช่วง 14 -18 มากกว่าราคาหรือการผลิต เทียบจากความสูงของเส้นอุปสงค์ D(d) สูงกว่าเส้น Supply ของปริมาณโลก ดังนั้นจะเห็นว่าพื้นที่ Deadweight loss รวมทั้งจากผู้ผลิตและผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ(0.5×350,000×4)+(0.5×4×50,000)=1,400,000 จากส่วนของส่วนเกินผู้บริโภค (Consumer Surplus) ทั้งหมดเท่ากับพื้นที่ห้าเหลี่ยม ebgm ซึ่งมีค่าเท่ากับ 0.5×350,000×(14+18)=5,600,000  โดยรัฐบาลได้ไป(18-14)×350,000=1,400,000 และถูกโอนย้ายไปให้ผู้ผลิต ซึ่งมีค่าเท่ากับห้าเหลี่ยม cvfm หรือ 0.5×350,000×(6+10)=2,800,000

          ส่วนเกินผู้บริโภคที่เสียไป = ส่วนเกินผู้ผลิต + รายได้รัฐจากภาษี + Deadweight Loss
               5,600,000                        =  2,800,000 + 1,400,000 + 1,400,000
     3. หากประเทศใช้ระบบภาษีการประกอบผลิตภัณฑ์นอกราชอาณาจักร (OAPs) รถยนต์ที่นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนส่วนใหญ่ในประเทศไทยและนำไปประกอบ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าจากจากประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 100,000 บาท (เพราะเป็นมูลค่าที่ผลิตในไทย 400,000 บาท) ดังนั้นจะถูกเก็บภาษีร้อยละ 70 เฉพาะในส่วนของมูลค่าของภายนอกประเทศ ดังนั้น ราคาของรถยนต์ที่เข้ามาขายในประเทศจะเป็น 500,000 + (100,000 × 0.7) = 570,000 บาท ซึ่งสามารถลดจำนวนเงินของผู้บริโภคได้ถึง 280,000 บาท โดยเส้น Supply World จะมาเป็นเส้นสีเหลือง (Offshore Assembly Provision) โดยจุดดุลยภาพจะอยู่ที่จุด d ณ จุดดังกล่าว จะมีการบริโภคทั้งสิ้น 16 คัน ผลิตภายในประเทศคือ 8 คัน และนำเข้าทั้งสิ้น 8 คัน จากการเก็บภาษีแบบ OAPs ส่วนเกินผู้บริโภคคือพื้นที่สามเหลี่ยม adi และส่วนเกินผู้ผลิตคือสามเหลี่ยม hei รายได้ของรัฐบาลคือสี่เหลี่ยม  edxp พื้นที่ Deadweight loss คือพื้นที่สามเหลี่ยม fep ซึ่งเกิดจากการบริโภคที่ไม่มีประสิทธิภาพ และพื้นที่สามเหลี่ยม dgx ซึ่งเกิดจากการบริโภคที่ไร้ประสิทธิภาพ โดยพื้นที่ของส่วนเกินผู้บริโภคที่เสียไป(เทียบกับก่อนเก็บภาษีนำเข้า) คือ พื้นที่ห้าเหลี่ยม idgm ซึ่งมีพื้นที่เท่ากับ 0.5×70,000×(16+18)=1,190,000 ถูกย้ายไปให้ส่วนเกินผู้ผลิต(iefm) จำนวน 0.5×70,000×(6+8)=490,000 รายได้ของรัฐบาลคือ70,000×(16-8)=560,000   และ Deadweight loss คือ (0.5×70,000×2)+(0.5×70,000×2)=140,000  

       ส่วนเกินผู้บริโภคที่เสียไป = ส่วนเกินผู้ผลิต + รายได้รัฐจากภาษี + Deadweight Loss
           1,190,000                          =  490,000 + 560,000 + 140,000 

เปรียบเทียบ 2 รูปแบบระหว่าง Traditional Tariff กับ OAPs
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
พื้นที่TT
พื้นที่ OAPS
มูลค่า TT
มูลค่า OAPs
ส่วนเกินผู้บริโภค
(-) cbgm
(-) idgm
(-) 5,600,000
(-) 1,190,000
ส่วนเกินผู้ผลิต
(+) cvfm
(+) iefm
(+) 2,800,000
(+) 490,000
รายได้รัฐบาล
(+) vbyk
(+) edxp
(+) 1,400,000
(+) 560,000
Deadweight Loss
(-) vkf+bgy
(-) fep+dgx
(-) 1,400,000
(-) 140,000



จากกราฟ จะเห็นอย่างชัดเจนว่า ส่วนเกินผู้บริโภคที่เสียไปนั้นลดน้อยลง ส่วนเกินผู้ผลิตที่เสียไปลดน้อยลงเช่นกัน และรวมถึงรายได้ของรัฐและพื้นที่ deadweight loss หรือการเสียเปล่าจากนโยบายก็ลดลงเช่นกัน ดังนั้น OAPs จึงเข้ามาอุดช่องว่างของ Traditional Tariff โดยช่วยให้ความสูญเสียที่เกิดจากภาษีนำเข้า อีกทั้งยังเป็นการให้ความสำคัญกับมูลค่าของสินค้าที่เกิดภายในประเทศและถูกนำเข้าใหม่ (Re-enter) โดยประเทศที่เข้ามาสร้างฐานการผลิต และโดยสวัสดิการโดยรวมของประเทศย่อมสูงขึ้นเช่นกัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รีวิวรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี้ยงไฮ้ ชั้น First Class: บทเรียนจากจีนสู่ไทย

วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผมมีโอกาสได้ไปทำวิจัยเรื่องศักยภาพสินค้าไก่ระหว่างไทย-จีน ณ ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 9 - 14 พฤษภาคม 2560 และได้มีโอกาสนั่งรถไฟความเร็วสูง (High-speed Train/Bullet Train) เส้นทางปักกิ่ง (Beijing) ไปเซี้ยงไฮ้ (Shanghai) จึงมารีวิวและเขียนข้อเสนอแนะเพิ่มเติมครับ รถไฟความเร็วสูงของจีน (High-speed rail; HSR) บริหารโดยรัฐวิสาหกิจที่มีชื่อว่า China Railway Corporation (คงคล้ายๆ กับรฟท.ของไทย) ได้ชื่อว่ามีโครงข่ายที่ยาวที่สุดในโลก (เพราะอาณาเขตพื้นที่ของจีนนั้นยิ่งใหญ่มหาศาลเหลือเกิน) มีเส้นทางรวมกันกว่า 22,000 กิโลเมตร และมีโครงการที่ขยายเส้นทางให้ครอบคลุมถึง 38,000 กิโลเมตรในอนาคต รถไฟความเร็วสูงของจีนเริ่มต้นให้บริการในปี พ.ศ. 2550 โดยมียอดการใช้บริการมากกว่า 1 พันล้านคนต่อปี เส้นทางของรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี้ยงไฮ้อยู่ที่ 1,318 กิโลเมตร เทียบได้กับเชียงใหม่-สุราษฏร์ธานี โดยให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 (เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2551) โดยเส้นทางดังกล่าวถือเป็นเส้นทางที่สร้างกำไรให้กั

กนง. ลดอัตราดอกเบี้ย ดีหรือไม่?

Photo Source: http://www.dailynews.co.th สรุปสั้นๆ>> "กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ เหลือ 2.25 ธนาคารพาณิชย์ตอบรับด้วยการลดดอกเบี้ยทั้งฝากและกู้"  วิเคราะห์ >>  1. ดอกเบี้ย สามารถพิจารณาได้เป็น 2 อย่าง คือเป็นทั้งผลตอบแทน (Rewards) ของการฝากเงิน และเป็นต้นทุน (Cost) หรื อราคาของการกู้ ดังนัน หากลดอัตราดอกเบี้ยลง ย่อมจูงใจให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเข้ามา "กู้เงิน" มากยิ่งขึ้น 2. สำหรับภาคธุรกิจ กู้เพื่อนำไปลงทุนหรือขยายกิจการ ซื้อเทคโนโลยี การตลาด ต่างๆ นานา การลงทุนของเอกชนนี้ หากเป็นการขยายร้านหรือลงทุนทางกายภาพ จะ"ส่งผลต่อเนื่อง"ไปยังตลาดสินค้าและบริการรวมถึงตลาดแรงงาน นับเป็นผลทางบวก 3. สำหรับภาคครัวเรือน การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเปิดโอกาสให้กู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น อย่างที่กล่าวว่าดอกเบี้ยคือราคาของการกู้ เมื่อราคาถูกลง ตามหลักอุปสงค์อุปทานพื้นฐาน ปริมาณเสนอซื้อหรือความต้องการซื้อหรือในที่นี่คือความต้องกู้ย่อมมากขึ้นเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตามต้องมีการระวังในเรื่องของฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะวิกฤติฟองสบ

พม่า..ผืนแผ่นดินทอง

ข้อมูลพื้นฐานประเทศพม่า ประเทศพม่า (Burma  หรือ  Myanmar)  มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า" ( Republic of the Union of Myanmar ) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคาบสมุทรอินโดจีน มีพรมแดนทางแผ่นดินติดต่อกับ 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย จีน บังคลาเทศ ลาว และไทย ทั้งนี้ พม่าเคยอยู่ภายใต้อาณานิยมของอังกฤษในช่วง พ.ศ. 2367-2485 และ 2488-2491 ด้วยพื้นที่ 261 , 789 ตารางไมล์ ( 678 , 034 ตารางกิโลเมตร ) แบ่งเป็นพื้นที่ทางบก 657,740 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ทางน้ำ 20,760 ตารางกิโลเมตร   อาณาเขต                  ทางฝั่งตะวันตกอยู่ติดกับบังกลาเทศ ทางเหนือติดกับอินเดียและจีน   ทางตะวันออกติดกับลาวและไทย ทางตอนใต้ของประเทศจะอยู่ติดกับอ่าวเบงกอลและทะเล  อันดามัน จังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับพม่า มี 10 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและระนอง   การปกครอง แบ่งเป็น 7 ภาคได้แก่ เขตอิระวดี เขตมาแกว เขตมัณฑะเลย์ เขตพะโค ( หงสาวดี) เขตสะกาย เขตตะนาวศรี และเขตย่างกุ้ง และ 7 รัฐ ได้แก่ รัฐยะไข่ รั