วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือเรื่อง Foreign Market Determination หรือการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนนั้นอยู่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ปัจจัยทางด้านบัญชีเดินสะพัด เป็นต้น หรือสามารถแบ่งได้เป็นอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศ ในกรณีของประเทศไทย ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นมาจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศเนื่องมาจากนักลงทุนต่างชาติมีแรงจูงใจด้านผลตอบแทนจากความแตกต่างกันของผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยที่สูงกว่าในไทยทำให้มีเงินไหลเข้าเป็นจำนวนมาก เป็นผลทางด้านอุปทานทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนมีความเปลี่ยนแปลงหรือผันผวนย่อมกระทบต่อการส่งออกและการนำเข้า เพราะอัตราแลกเปลี่ยนหมายถึงกฎเกณฑ์ในการซื้อ-ขายสินค้าระหว่างสองประเทศ หากเงินบาทแข็งค่า สินค้าไทยในมุมมองผู้บริโภคต่างชาติจะแพงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากอัตราแลกเปลี่ยนอยุ่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สินค้า A ของไทยราคา 30 บาทส่งออกไปที่ประเทศสหรัฐ ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะใช้เงิน 1 ดอลลาร์ในการซื้อสินค้าดังกล่าว หากอัตราแลกเปลี่ยนแปลงไปโดยที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น เช่น 29 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ และกำหนดให้สินค้าไทยที่ส่งออกมีราคา 30 บาทเท่าเดิม ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะต้องใช้เงินมากกว่า 1 ดอลลาร์ในการซื้อสินค้าดังกล่าว การที่ค่าเงินของเราแข็งค่า จึงเปรียบเสมือนว่าสินค้าของเรานั้นแพงขึ้นทั้งที่ขายในราคาเท่าเดิม ในทางกลับกัน สินค้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาจะถูกลงในสายตาของคนไทย ยกตัวอย่าง สินค้า B ขายในราคา $5 ในกรณีอัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ เราใช้เงิน 30 x 5 = 150 บาทในการซื้อ หากอัตราแลกเปลี่ยนเป็น 29 บาทต่อดอลลาร์ เราใช้เงินเพียง 29 x 5 = 145 บาท ดังนั้นสินค้า B จึงมีราคาถูกลงในสายตาของคนไทย แม้ price tag จะยังคงเท่าเดิมก็ตาม โดยสรุป หากค่าเงินประเทศใดแข็งค่าขึ้น Export จะได้ความเสียหาย และ Import จะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น ในทางกลับกัน หากค่าเงินประเทศใดอ่อนค่าขึ้น Export จะดีขึ้นและ Import จะแย่ลง เราจึงสามารถสังเกตข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยๆ ว่าหากเมื่อไหร่ก็ตามที่ค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ผู้ส่งออกมักออกมาเรียกร้องให้แบงค์ชาติดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ส่งออกมักทำประกันค่าเงินไว้แล้ว ผู้เขียนจึงมองว่าการออกมาเรียกร้องเป็นแค่การป้องกันความเสี่ยงที่ค่าเงินจะแข็งค่าระยะยาวเท่านั้นเอง
ทั้งนี้การที่ค่าเงินอ่อนค่าลงนับเป็นผลดีต่อการส่งออก การพยายามทำให้ค่าเงินของชาติตนเองอ่อนค่าไว้นั้นเป็นการทำลายตลาดส่งออกของ trading partner เช่นกัน (กรณี Currency War) เมื่อค่าเงินอ่อนลง ส่งออกได้มากขึ้น contribute ไปให้ GDP ผลงานก็ตกเป็นของรมว.คลัง ดังนั้นเราจึงไม่แปลกใจ หากเห็นนักการเมืองพยายามแทรกแซงแบงค์ชาติให้ทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลง นอกจากนี้ในกรณีค่าเงินบาทแข็งค่าจะทำให้ตัวเลขมูลค่าของ GDP ต่ำกว่าที่คาดหมาย (expected value) เนื่องมาจากหน่วยคูณในการคำนวณปริมาณสินค้าและบริการมีมูลค่าหน่วยลดน้อยลงนั่นเอง (เป็นที่มาของการจัดทำ exchange rate at PPP)
สำหรับประเทศไทย ระบบอัตราแลกเปลี่ยนนั้นเป็นระบบ Managed Floating Exchange Rate System หรือลอยตัวอย่างมีการจัดการ สามารถควบคุมค่าเงินไม่ให้ผันผวนได้จากการเข้าแทรกแซงทางด้านอุปสงค์จากแบงค์ชาติ แต่ไม่บ่อยนักที่จะเห็นการแทรกแซงลักษณะนี้เพราะต้องอาศัยความมั่นคงของตลาดพอสมควร จากที่กล่าวข้างต้น สำหรับการที่ค่าเงินบาทในช่วงนี้มีการแข็งค่าขึ้นเป็นผลมาจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่แสวงหากำไรจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าในประเทศไทย สูตรที่ง่ายและนิยมใช้กันมากคือการลดอัตราดอกเบี้ย การลดอัตราดอกเบี้ยคือการลดผลตอบแทนของการเข้ามาลงทุน ลดแรงจูงใจของนักลงทุนต่างชาติ สามารถเห็นผลได้โดยตรง และดูเหมือนว่าวิธีการนี้จะเป็นวิธีการที่ดี อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยดังกล่าวที่จะลดคือดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นเมื่อลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ยอื่นๆภายในประเทศ มีผลทำให้กระทบต่อประชาชนในประเทศไทย ยกตัวอย่างเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น คำถามคือมีวิธีการอื่นอีกไหมในการจัดการอัตราดอกเบี้ย สำหรับประสบการณ์เรื่องการจัดการอัตราแลกเปลี่ยนกับประเทศอื่น มีดังนั้น ประเทศสิงคโปร์ใช้วิธีที่เรียกว่า Capital Control ผ่านการเก็บภาษีจำนวน 10% ต่อการซื้อ Property Paper โดยนักลงทุนต่างชาติ ประเทศบราซิลเก็บภาษีในการซื้อขายในตราสารของนักลงทุนต่างชาติ ซาอุดิ อาระเบีย ใช้วิธีเก็บภาษีใน Remittance สวิซเซอร์แลนด์ใช้วิธีแทรกแซงค่าเงินโดยตรง คำถามคือว่าแล้ว Capital Controls นั้นมีประสิทธิภาพจึงหรือไม่ จากงานวิจัยของ IMF และ World Bank พบว่า Capital Controls เป็นการแก้ไขเพียงระยะสั้นเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศาสตราจารย์ Gary Becker และศาสตราจารย์ John Huizinga กล่าวว่า นโยบายทางการเงินและนโยบายทางการคลังคือการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง นโยบายทางการเงิน เช่น การพิมพ์พันธบัตรรัฐบาลหรือ QE ในการทำให้ค่าเงินอ่อนลง เงินเฟ้อจะสูงขึ้นจากปริมาณเงินในระบบและทำให้ผลกระทบจากค่าเงินแข็งค่าลดลง นโยบายทางการคลังผ่านการลงทุนระยะยาวของรัฐบาล เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างสำหรับสองวิธีการนี้คือการแก้ไขปัญหาในประเทศชิลี ในปี 2543 นอกจากนั้นจากการแนะนำของคุณธีระชัย ภูวนาทนรานุบาล อดีตรมว.คลัง กล่าวว่าการกำหนดปริมาณเงินทุนไหลเข้าสามารถแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทได้เช่นกัน ทั้งนี้ ผู้เขียนมองว่า ถึงแม้ว่า Capital Controls จะเป็นมาตรการระยะสั้นสำหรับการแก้ไขค่าเงินแข็งค่า แต่มีประสิทธิภาพมากกว่าและผลกระทบใน-ภาพกว้างน้อยกว่าวิธีการลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ไขระยะสั้นควรทำพร้อมกับการแก้ไขระยะยาว โดยส่วนตัวเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีการเฝ้าระวังและมีเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากเพียงพอที่จะจัดการปัญหา และสาเหตที่ยังไม่มีการจัดการใดๆ ก็น่าจะเนื่องมาจากการการพยายามหลีกเลี่ยงการแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศซึ่งนำไปสู่ปัญหา Market Failure ได้ เมื่อ Laissez – Faire หรือ Free Market Mechanism ของอดัม สมิทธิ์ ยังคงถูกเชื่อถือทั้งในตลาดสินค้าและบริการ ตลาดทุน ตลาดเงิน การไม่ตื่นตระหนกมากจนเกินไปและการเฝ้าระวังนับเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาค่าเงินแข็งค่าในปัจจุบัน
Reference:Yarbrough, Global Economy and Shann Saeed, Capital Controls
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น