Tablet Scheme : Is Track Wrong ?
http://www.itallnews.com/all/%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD-scope-%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%9B-1-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/
http://www.itallnews.com/all/%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD-scope-%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%9B-1-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/
![]() |
ขอบคุณภาพจาก www.itallnews.com |
จากนโยบายแจกแท็บเลตให้เด็กป. 1 นั้น ผู้เขียนข้อแจกแจงเป็นข้อๆ ดังนี้
1. โครงการแจกแท็บเลตของรัฐบาลมีการวิเคราะห์ต้นทุนผลตอบแทนหรือไม่ รัฐบาลควรมีการทำวิจัยโดยดูว่ามีความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนกับการลงทุน ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ต้นทุนทางตรงและทางอ้อม เป็นเท่าไหร่ วิเคราะห์ NPV (Net Present Value) แล้วมีค่าเป็นบวกหรือไม่ วิเคราะห์ IRR (Internal Rate of return) แล้วมากกว่า I (interest rate) หรือไม่ B/C Ratio มีค่ามากกว่า 1 หรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีงานวิจัยของรัฐบาลหรือนักวิชาการที่รองรับความคุ้มค่าของการลงทุนดังกล่าว การวิเคราะห์ต้นทุนผลตอบแทน (Cost-Benefit Analysis) นั้นมีความสำคัญมากเพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนได้แก่ Enumerate (แสดงประโยชน์ทั้งตรงทางอ้อม และต้นทุนทางตรงทางอ้อม) , Evaluate (นำประโยชน์และต้นทุนมาคิดเป็นตัวเงิน), Discount Rate (คิดอัตราส่วนลดที่เหมาะสม) รายละเอียดของการวิเคราะห์ผู้เขียนจะไม่ขอพูดถึง แต่แค่อยากจะรู้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการมีการคำนวณและเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบหรือยัง ทำไมต้องเผยแพร่? เพราะคนในสังคมจะได้ช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของโครงการ อย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ที่คิดโครงการป้องกันน้ำท่วม โดยเลือกที่จะเปลี่ยนทางวิธีการทางวิศวะกรรมโดยการสร้างเขื่อน (Engineering Approach) มาเป็นวิธีสู้พลางถอยพลางหรือการอยู่ร่วมกับน้ำโดยการสร้างมารีนา (Managed Realignment) รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ก็มีการวิเคราะห์ต้นทุนผลตอบแทนและเผยแพร่ให้ประชาชนรู้ก่อนที่จะทำโครงการ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับรัฐบาลที่ควรให้ความสำคัญ
2. การที่รัฐบาลแทรกแซงระบบนั้น ผลกระทบภายนอกเชิงบวก (Positive Externality)คืออะไร ใครคือบุคคลที่สามที่ได้รับประโยชน์ ประโยชน์ต่อสังคมคืออะไร ต้องกล่าวก่อนว่าในทางเศรษฐศาสตร์นั้น หากมีผลกระทบภายนอกเชิงบวกหรือเชิงลบ การแทรกแซงของรัฐบาลสามารถทำได้เพื่อขับเคลื่อนตลาดให้เข้าสู่จุด Social Optimum ได้ แต่หากไม่มีผลกระทบภายนอกดังกล่าว การเข้าแทรกแซงของรัฐบาลจะทำให้ดุลยภาพของสังคมที่เดิมอยู่จุด Social Optimum อยู่แล้วนั้นเคลื่อนไป แล้วทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพขึ้น จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีงานวิจัยของรัฐบาลหรือนักวิชาการที่รองรับว่าการแจกแท็บเลตมีผลกระทบภายนอกเชิงบวก เพราะฉะนั้นนโยบายนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้ดุลยภาพของสังคมแย่กว่าเดิม
3. มีคำกล่าวของ รมว. กระทรวงศึกษาที่น่าสนใจและเป็นประเด็นดังนี้
3.1 “แท็บเลตเป็นครูคนใหม่ของนักเรียนไทย” ผู้เขียนอยากถามว่าจำเป็นที่เด็กจะต้องมีครูคนใหม่หรือไม่ ทำไมไม่พัฒนาระบบการศึกษาที่มีอยู่เดิมให้ดีเสียก่อน มีงานวิจัยมากมายบอกว่าการขยายการศึกษาคุ้มค่าน้อยกว่าการปรับปรุงระบบเดิมให้ดีกว่าเดิม(Todaro) เรียกได้ว่า คุณภาพสำคัญกว่าจำนวน และหากแท็บเลตเป็นครูคนใหม่จริง เด็กนักเรียนจะต้องกราบไหว้หรือไม่
3.2 “แท็บเลตจะทำให้เด็กฉลาดขึ้น” งานวิจัยของนักวิชาการคนใดที่บอกว่าแท็บเลตมีผลต่อการเรียนรู้? เหตุใดแท็บเลตจึงมีความสำคัญมากกว่าหนังสือ ทุกวันนี้เด็กในชนบทยังขาดแคลนหนังสือเรียน ต้องยืมเรียน ทำไมการจัดหาหนังสือถึงมีความสำคัญน้อยกว่าการจัดหาแท็บเลตซึ่งดำเนินการเพียงไม่กี่เดือนก็เสร็จสิ้น
3.3 “แท็บเลตช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการศึกษา” งานวิจัยของนักวิชาการคนใดที่บอกว่าแท็บเลตช่วยลดความเหลื่อมล้ำในมิติของการศึกษา? เป็นความจริงที่ความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติ ทั้งในมิติของรายได้ การศึกษา และสุขภาพ การลดความเหลื่อมล้ำสามารถทำได้หลายวิธี วิธีแท็บเลตนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือ? มีวิธีการอื่นอีกไหมที่จะลดความแตกต่างของการศึกษาอันเป็นปัญหาของการพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนาน? การวิเคราะห์ cost-effectiveness ของรัฐบาลเกิดขึ้นหรือไม่? เพราะจะทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนในแง่ของค่าใช้จ่ายการดำเนินโครงการหลายโครงการเพื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์ที่เหมือนกัน
3.4 “แท็บเลตช่วยให้เด็กวิเคราะห์เป็น แทนที่จะท่องจำ” ผู้เขียนมีความเห็นว่า ก่อนที่เด็กจะวิเคราะห์ได้ อย่างน้อยต้องมีอะไรในสมองอยู่บ้าง อย่างน้อยต้องจำ Main Idea ให้ได้ ถึงจะวิเคราะห์ให้ได้ว่าคืออะไร จริงอยู่ที่การท่องไปสอบแบบนกแก้วนกขุนทอง พอสอบเสร็จก็ลืม แต่หากไร้ซึ่งกระบวนการจำ แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถวิเคราะห์ได้ และอีกประเด็นคือ มีงานวิจัยชิ้นใดที่บอกว่าแท็บเลตช่วยให้เด็กวิเคราะห์เป็น หากเป็นไปตามคำกล่าวจริงทำให้ประเทศที่มั่งคั่งทางการศึกษาอย่างสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอังกฤษไม่มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับแท็บเลตอยู่เลย
3.5 “หมากรุกในแท็บเลตช่วยให้วางแผนเป็น” ผู้เขียนเห็นด้วยว่าเกมหมากรุกไทยหรือจะหมากรุกประเทศอื่นก็ตามฝึกสมองให้เรามีการคิดเป็น วางแผนเป็น แต่ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน มีวิธีอื่นที่ประหยัดงบประมาณแผ่นดินมากกว่านี้อีกหรือไม่? หรือหมากรุกเป็นเพียงวิธีการเดียวที่จะทำให้เด็กคิดเป็น วางแผนเป็น เพราะฉะนั้นการทำ Cost-Effectiveness ของรัฐบาลนั้นสำคัญมากต่อการเลือกเนื้อหาในแท็บเลต
4. ปัญหาเรื่อง H.D.I.
Human Development Index (H.D.I.) เป็นมาตรวัดสากลที่วัดการพัฒนาของประเทศโดยวัดสามด้านได้แก่ ด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยวัดจาก GDP (PPP) , ด้านการศึกษา ( course enrollment และ Adult Literacy rate), และด้านสุขภาพ (Life Expectancy) ทั้งนี้ H.D.I. ของประเทศไทยอยู่ในระดับกลางและประเทศถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือค่า H.D.I. ของประเทศไทยลดน้อยลงทุกปี ซึ่งแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า และ ลาว ซึ่งมีค่า H.D.I. เพิ่มสูงขึ้นทุกปี เมื่อดูข้อมูลด้านรายได้ประชาชาติต่อหัว พบว่า รายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้น สัดส่วนคนจนภายใต้เส้นความยากจนลดลง สองมาตรวัดนี้เป็นการวัดด้านเศรษฐกิจ แต่เมื่อเราพิจารณาดัชนีรวมในตัววัด H.D.I. พบว่าข้อมูลตรงข้าม แปลว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ไร้ซึ่งการพัฒนา (Growth without Development) ดังนี้การให้ความสำคัญในด้านการศึกษา จะช่วยเพิ่มคะแนนของ H.D.I. และผยุงให้ชาติบ้านเมืองมีการพัฒนาไปพร้อมๆกับการเจริญเติบโต
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Milton Friedman ได้กล่าวในงานวิจัยของเขาเองว่า การศึกษานั้นมีผลกระทบภายนอกเชิงบวก ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องแทรกแซงเพื่อทำให้สังคมเกิด Social Optimum อย่างไรก็ตาม การพยายามศึกษาแนวทางใหม่ๆอย่างแท็บเลตที่เอามาจากมาเลเซียและสิงคโปร์นั้น ก็นับว่ามีข้อดีในแง่ของความแปลกใหม่แต่เมื่อดูในระยะยาวแล้ว ประเทศชั้นนำทางการศึกษาอย่างประเทศสหรัฐอเมริกายังให้เด็กนักเรียนเรียนผ่าน Textbook อยู่ แล้วทำไม เราถึงไม่ปรับใช้วิธีการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกาให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย ทำไมโครงการต่างๆของรัฐบาลถึงไม่มีงานวิจัยมารองรับความคุ้มค่าในแง่ของประโยชน์ทั้งทางตรงและทั้งอ้อมที่มีต่อบุคคลและสังคม บทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เขียนเพื่อตำหนิติติงแต่อย่างไร เพียงแต่ต้องการแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิจัยมากกว่านี้ทั้งก่อนการตั้งนโยบายหาเสียงและในการปฏิบัติจริงหลังการเลือกตั้ง เชื่อแน่ว่าการเจริญเติบโตและการพัฒนาจะเกิดขึ้นพร้อมๆกัน และทำให้สังคมไทยก้าวไกลอย่างยั่งยืน
ที่มา คำกล่าวของรมว. กระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแท็บเลต
www.matichon.co.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น